ทำให้ถูกวิธี !! วิธีการขอพรและความช่วยเหลือจาก “เทวดา” ให้ได้ผล !!

เมื่อทำการเชื่อมบุญ ทำให้กระแสบุญผูกพันกันแล้ว เชื่อมกันแล้ว ในเวลาเราจะไปขอพรหรือขอความช่วยเหลือนั้น เราต้องไม่ลืมว่าอย่างไรก็ตามท่านก็เป็นเทวดาท่านมีภพที่อยู่สูงกว่าเรา ที่เราต้องไปสักการบูชาทำความเคารพ ขอโมทนาคุณความดีของตัวท่านให้ช่วยคุ้มครองและดลใจให้เราไม่เดินทางผิดและทำดีต่อไป ไม่ใช่การไปขอร้องให้ช่วยด้วยการ “ติดสินบน” โดยการเอาของไปเซ่นไหว้หรือล่อใจท่าน อย่าลืมว่าเทวดา ท่านก็เป็นภพภูมิที่ยังมีกิเลส การไปสร้างกิเลสให้ท่านก็นับว่าเป็นบาปอย่างหนึ่งทำให้กลายเป็นว่า ท่านจะไปสร้างกรรมร่วมกับเราแทนซึ่งแน่นอนว่าเหล่าเทวดาผู้ต้องการความดีคงไม่ปรารถนาเช่นนั้น ที่สำคัญคือ หากเราเป็นคนหนึ่งที่ไปชักชวนให้ท่านเกิดกิเลสให้ท่านร่วมก่อกรรมไม่ดีเพราะเอาสิ่งของไปล่อไปติดสินบน เราก็จะต้องพลอยรับผลกรรมไม่ดีไปด้วย คิดใหม่ว่า ที่ท่านช่วยให้พรและให้ความเมตตานั้นท่านไม่ได้หวังเครื่องเซ่นไหว้ใดๆ ท่านได้ช่วยเราด้วยความบริสุทธิ์ใจเช่นเดียวกับการที่เราบริสุทธิ์ใจไปขอท่านจะทำให้ท่านได้สร้างบุญเพิ่ม



การขอพรนั้นเป็นสิ่งที่ดีครับและขอได้ทุกโอกาสขอได้กับเทวดาทุกองค์ (เพราะอย่าลืมว่า ไม่มีเทวดาองค์ไหนมาคอยอยู่ประจำตัวดูแลเราตัวต่อตัว แน่นอน) เมื่อเรายังคงอยู่ในศีลมีบุญติดตัว มีความตั้งใจมั่นและศรัทธาในความดี รับรองว่าความสำเร็จบังเกิดขึ้นกับเราแน่ๆ สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ในขณะที่กำลังขอพรหรือขอความช่วยเหลือนั้นสิ่งที่ขอก็ต้องเป็นเรื่องที่ดีด้วยหากจุดประสงค์ในการขอไม่บริสุทธิ์ จิตก็จะไม่สะอาดไม่อาจก่อพลังงานที่ดีขออะไรไปก็ไม่ได้ผลไม่เกิดอะไรขึ้นและท่านเทวดาก็คงไม่อำนวยผลให้เกิด เพราะถ้าท่านทำอย่างนั้นก็เท่ากับว่าท่านได้ทำบาป แล้วของที่ไม่ดีอย่างกรรมชั่วและบาปนั้นไม่มีใครเขาอยากได้ เมื่อจุดประสงค์ดี จิตใจสะอาดและสิ่งที่ขอกำลังจะเป็นผลให้ลองสังเกตดูว่า ช่วงเวลาที่จิตใจสะอาดจะมีมีความกล้าแข็งทางจิตขึ้นด้วยจะมีความรู้สึกโล่งโปร่งสบาย อาจมีอาการขนลุก น้ำตาไหลโดยไม่รู้ตัวหรือมีแสงสว่างวาบขึ้นมาในจิตแสดงว่า เทวดาท่านรับรู้แล้วในสิ่งที่เราต้องการและท่านจะช่วยอำนวยพรให้ส่วนเรื่องจะประสบผลสำเร็จดังที่ตั้งใจหวังหรือไม่ ก็อยู่ที่กรรมลิขิตตามหลักของ “กฎแห่งกรรม” อีกทีหนึ่งครับ



องค์ประกอบอื่นๆ ในการบูชาเทวดา ตามความเชื่อในการไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายนอกจากไหว้พระพุทธรูปที่เปรียบเสมือนตัวแทนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วเรามักจะพบเห็นสิ่งอื่นๆ ประกอบการบูชาเสมออย่างเช่น ของเซ่นไหว้และการจุดธูป ของเซ่นไหว้จำเป็นหรือเปล่า?

การบูชาเทวดาด้วยอาหารคาวหวานนั้น เชื่อว่าเป็นพิธีกรรมที่มาจากวิชาไสยศาสตร์เสียมากกว่าโดยจะดูไปถึงนิสัยเดิมของเหล่าเทวดาในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ขณะที่เป็นมนุษย์ว่าชอบอะไรไม่ชอบอะไร เช่น ขณะที่เป็นมนุษย์ชอบรับประทานเนื้อก็มักจะเอาเนื้อสดมาบูชา หรือชอบรับประทานไข่ก็เอาไข่มาบูชา ชอบดื่มเหล้า ก็มักจะเอาเหล้ามาบูชา หรือถ้าไม่รู้ว่าเทวดาท่านชอบอะไรก็มักจะเตรียมกันมาแบบครบเครื่องเผื่อเหลือเผื่อขาด ให้เลือกเอาได้ตามสบาย แต่อย่างที่กล่าวนำไปในตอนต้นครับว่า โดยปกติภพภูมิของความเป็นเทวดาท่านจะมีทิพย์สุขอยู่แล้วอยากได้อะไรก็มักจะนึกเอาได้ดังใจปรารถนา

เรื่องของการเอาของมาเซ่นไหว้นี้ จริงๆ แล้วน่าจะเป็นความเชื่อเพื่อไหว้ “วิญญาณ” หรือ ผี ที่ต่ำลงมาจากชั้นเทวดามากว่า เช่น วิญญาณบรรพบุรุษ หรือเจ้าที่ที่เคยอาศัยอยู่บริเวณนั้น ซึ่งหากใครมีความเชื่อส่วนตัวว่า วิญญาณหรือเจ้าที่ ในที่เราไหว้อาจจะเป็นเทวดาหรือไม่ก็เป็นดวงวิญญาณหรือผีบรรพบุรุษที่มีความผูกพันกันมาคอยดูแลปกปักรักษาอยู่ก็ไม่ว่ากัน ขอเพียงแต่หลังจากถวายของเซ่นเหล่านั้น ไปแล้ว อย่าลืมทำบุญแล้ว อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลด้วยการกรวดน้ำไปให้ท่านด้วยครับ เพื่อจะได้ให้ท่านมีพลังบุญเพิ่มจะได้ส่งเสริมให้ท่านได้ไปสู่ในภพที่สูงกว่าและมีความสุขกว่ายิ่งๆ ขึ้นไป



การจุดธูป การจุดธูปบูชานี่เห็นกันมานานแล้วใช่หรือเปล่าครับส่วนใหญ่มักจะเป็นคำถามเสมอว่า บูชาเทวดาจะต้องจุดกี่ดอก แถมยังมีแบ่งด้วยว่าบูชาเทวดาชั้นนั้นชั้นนี้ต้องจุดเท่านั้นเท่านี้ดอก ฟังแล้วปวดหัวอยู่เหมือนกันแต่ก่อนจะบอกว่าจะจุดอย่างไร จุดกี่ดอก ขออธิบายความเรื่องการจุดธูปหรือเครื่องหอมนี่สักหน่อยครับ เรื่องนี้มีการกล่าวอ้างอิงไว้ในหนังสือพุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน โดยพระอาจารย์วัน อุตตะโมในหนังสือเล่มนี้กล่าวไว้ว่า

ในช่วงที่พระพุทธเจ้าใกล้จะปรินิพพานที่เมืองกุสินารา ก็มีเหล่าอุบาสกอุบาสิกา รวมทั้งเทพและเทวดาทุกชั้นฟ้าต่างลงมาถวายความเคารพพระพุทธองค์คือมีทั้งดอกไม้ที่เป็นดอกไม้ทิพย์ของภพภูมิเทวาและดอกไม้ของมนุษย์รวมไปถึง ของหอมต่างๆ เช่น กำยาน ธูปเทียน เป็นต้น ซึ่งในเรื่องนี้พระพุทธองค์ทรงทราบดีอยู่แล้วถือเป็นการบูชาพระองค์อย่างหนึ่งที่เรียกว่า เป็นอามิสบูชาเพราะในยุคนั้นมีความเชื่อเรื่องเทพเจ้า เทวดา และภูตผีมาก่อนอยู่แล้วการนำสิ่งของที่เป็นของหอมทั้งหลายมาบูชาจึงถือเป็นเรื่องปกติแยกจากกันไม่ได้พระพุทธองค์ไมได้ทรงห้ามการบูชาแบบนี้แต่ก็ยังทรงตรัสกับพระอานนท์ว่า “อานนท์ พุทธบริษัททั้งสี่ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทำการสักการบูชาเราด้วยเครื่องบูชาสักการะทั้งหลายอันเป็นอามิส คือ ดอกไม้ ธูปเทียน เป็นต้น หาได้ชื่อว่าบูชาตถาคตเป็นการอันยิ่งไม่ ผู้ใดที่ปฏิบัติตามธรรมปฏิบัติอันชอบยิ่ง ปฏิบัติธรรมอันเหมาะสม ผู้นั้นแลชื่อว่าสักการบูชาเราด้วยการบูชาอันยอดเยี่ยม” แปลว่าพระองค์ยกย่องการบูชาด้วยการปฏิบัติเป็นสำคัญ



ส่วนพวกของหอมทั้งหลายที่นำมาบูชาก็ถือเทียบเปรียบเปรยว่าเป็นกลิ่นหอมของความดีอย่างเช่น กลิ่นของธูปหอมหรือกำยานเป็นต้น คนดีๆ มักจะมีกลิ่นหอมติดตัว เทวดาก็มีกลิ่นหอมปรากฏอยู่ในกายทิพย์ทั้งสิ้น ดังนั้นเรื่องความเข้าใจเรื่องการจุดธูปจึงมีที่มาที่ไปแบบนี้ครับคือ จุดได้ตามความเชื่อที่ได้เชื่อได้ยินกันมาเพื่อเป็นการสักการบูชาทางหนึ่ง โดยการจุดธูปบูชาเทวดานั้น ท่านเจ้าพิธีผู้รู้ได้กรุณาให้คำแนะนำมาดังนี้ครับ จุดธูป 9 ดอก จุดประสงค์เพื่อการบูชาเทวดาชั้น รุกขเทวดา เจ้าป่าเจ้าเขา หรือ ศาลพระภูมิ จุดธูป 11 ดอก จุดประสงค์เพื่อการบูชาเทวดาชั้นสูง (เชื่อว่าเป็นระดับชั้น จตุมหาราชิกาขึ้นไป) จุดธูป 16 ดอก จุดประสงค์เพื่อบูชาและอัญเชิญเทพและเทวดาชั้นสูงขึ้นไปอย่าง พระพรหม เพื่ออัญเชิญเทวดาทั้ง 16 ชั้นฟ้าลงมาฟังธรรมหรือการประกอบพิธีทางศาสนา (นิยมสวดบทชุมนุมเทวดาก่อนประกอบพิธีด้วย) จุดธูป 19 ดอก จุดประสงค์ เพื่อบูชาเทวดาทั่วทั้ง 10 ทิศ จุดธูป 108 ดอก จุดประสงค์เพื่อบูชาเทพเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายทั่วทั้งโลก ทุกชั้นฟ้า



ความเชื่อเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการบูชาครับ ขอทิ้งท้ายเรื่องการจุดธูปนี้ ด้วยการเล่าอะไรเพิ่มเติมเพื่อเป็นข้อเปรียบเทียบอีกสักหน่อย เป็นเรื่องเกี่ยวกับ พระนิกายเซ็น พระนิกายเซ็นหนุ่มรูปหนึ่งซึ่งท่านต้องการจะบรรลุธรรม ท่านคิดว่าการปฏิบัติธรรมของท่านจะต้องไม่เหมือนใคร จึงขึ้นไปนั่งสมาธิบนต้นไม้ไม่ยอมกินยอมนอนเป็นเวลาสามวัน พอพระอาจารย์เซ็นเดินมาพบเข้าก็ถามว่าขึ้นไปทำอะไรอยู่บนนั้น พระหนุ่มผู้เคร่งสมาธิก็บอกว่า ผมกำลังทำสมาธิเพื่อเป็นพระพุทธะ อาจารย์ท่านได้ยินดังนั้นจึงคว้าเอาก้อนอิฐข้างทางมาถูกับมือจนเลือดไหล พระหนุ่มฉงนมากก็เลยถามว่า พระอาจารย์ทำอย่างนั้นทำไม พระอาจารย์ก็เลยบอกว่า ผมก็จะถูให้มือมันกลายเป็นกระจกใสๆ พระหนุ่มยิ่งงงหนักเข้าไปอีก ร้องบอกท่านอาจารย์ว่า ท่านจะบ้าหรือเปล่าท่านถูจนมือขาด มือก็ไม่กลายเป็นกระจกให้ท่านหรอก พระอาจารย์ก็สวนกลับไปมา คุณก็จะบ้าเรอะ!! นั่งอยู่บนนั้นจนกลายเป็นลิงก็กลายเป็นพระพุทธะไม่ได้เหมือนกัน ภายหลังพระหนุ่มจึงคลายความเห็นที่ไม่ถูกต้องนั้นและได้บรรลุธรรมในเวลาต่อมาเพราะได้การชี้นำที่ถูกจากพระอาจารย์

เรื่องนี้เปรียบเทียบเรื่อง อามิสบูชา กับ ปฏิบัติบูชา ก็อย่างที่พระพุทธองค์ท่านตรัสไว้ว่า การบูชาที่ดีที่สุดคือการปฏิบัติดีให้ชอบด้วยตัวของตัวเองจึงจะได้ผลดีที่สุด การจุดธูปตามความเชื่อนั้นหากจะจุดบูชาก็สามารถจุดได้ตามความประสงค์ แต่ถ้าเราไม่ได้ทำความดี ไม่ทำบุญทำทาน หรือไม่เคยอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลใดๆ เลย จู่ๆ นึกอยากบูชาเทวดาขึ้นมาก็ไปจุดธูปไหว้ท่านเพื่อหวังจะให้ท่านช่วย ท่านก็คงช่วยอะไรไม่ได้หรอกครับ ต่อให้จุดเป็นพันๆ ดอกก็ตาม


แหล่งที่มา : torthammarak