เผยเบื้องหลังการทำงาน “เครื่องเจาะหินด้วยแรงอัดอากาศ” ลดระดับน้ำสำเร็จ

จากกรณีเด็กและโค้ช 13 ชีวิต ติดอยู่ในถ้ำหลวงผ่านมาหลายวันแล้วสำหรับการค้นหาเด็กที่ติดในถ้ำหลวง 13คน ซึ่งการค้นหาก็เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และยังมีกำลังใจคอยช่วยลุ้นอีกทั้งประเทศ สำหรับความคืบหน้า ช่วงบ่ายวันที่ 28 มิ.ย. เจ้าหน้าที่นำรถเจาะขนาดใหญ่มาถึงถ้ำหลวง เพื่อเตรียมเจาะถ้ำ ช่วยเหลือทั้ง 13 ชีวิต โดยเจ้าหน้าที่ต้องวางแผนเพื่อเตรียมเจาะจุดแรกบริเวณจุดโถงพัทยาบีชก่อน ซึ่งคาดเป็นจุดที่ทั้ง 13 ชีวิตอยู่บริเวณนั้น นายณัฐพงษ์ หอจตุรพิธพร หัวหน้าชุดขุดเจาะ ร่วมกับหน่วยงานภาคเอกชน นำรถขุดเจาะขนาดใหญ่ 3 คัน มาเจาะรูเปิดทางน้ำโดยตรง เพื่อให้น้ำในถ้ำระบายได้เร็วขึ้น นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ได้ประสานงานกับจังหวัดเชียงราย นำรถขุดเจาะ 3 คัน ขุดเจาะเข้าไปโดยตรง ใช้ท่อขนาด 6 นิ้ว สามารถระบายน้ำได้ถึง 1,000 ลูกบาศก์เมตร เหมือนการเจาะบาดาล แต่เป็นการเจาะแนวราบ ซึ่งจะเจาะใกล้กับริมหน้าผาใกล้ถ้ำที่สุด ในความลึก 120 เมตร ไม่มีผลกระทบกับโครงสร้างถ้ำแน่นอน หากเจาะตรงนี้ได้ผล จะมีรถอีกชุดเจาะเข้าไปใกล้ถ้ำมากขึ้น ซึ่งจะสามารถระบายน้ำได้เร็วขึ้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเจ้าหน้าที่เริ่มติดตั้งเครื่องมือเพื่อเจาะหน้าผา จู่ๆ ก็มีฝนตกลงมาอย่างหนัก ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องรอให้ฝนเบาลง ก่อนเริ่มปฏิบัติภารกิจเจาะผาถ้ำหลวง เพื่อระบายน้ำออกจากถ้ำอีกทาง ต่อมาพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ เดินทางมาตรวจอุปกรณ์และเครื่องเจาะน้ำบาดาล บริเวณป้ายวนอุทยานฯ ซึ่งทางสมาคมน้ำบาดาลแห่งประเทศไทยนำเครื่องเจาะไปสนับสนุนการปฏิบัติการของศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ จ.เชียงราย บริเวณหน้าถ้ำ หลังจากทางศูนย์ฯ และกรมทรัพยากรธรณีพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นจุดที่น้ำใต้ดินภายในถ้ำไหลผ่าน โดยตั้งอยู่ห่างจากปากถ้ำประมาณ 15 เมตรเท่านั้น
พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า การติดตั้งเครื่องดังกล่าวเป็นการสนับสนุนจากภาคเอกชน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคำนวนแล้ว คาดว่าเป็นจุดน้ำในถ้ำไหลผ่าน และเหมาะสมที่สุดโดยจะเจาะในแนวเอียง ไม่เจาะในแนวตั้งเหมือนน้ำบาดาลทั่วไป เพื่อให้เข้าช่องหินด้านข้างเข้าไปภายในถ้ำ โดยเครื่องนี้มีศักยภาพเจาะได้ลึกกว่า 500 เมตร รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ กล่าวว่า หากเจอน้ำตามที่คำนวนไว้ ก็จะเร่งระบายโดยเร็ว ซึ่งจะแบ่งเบาการสูบน้ำออกจากภายในถ้ำที่กำลังดำเนินการอยู่ ทั้งนี้ การระบายน้ำจากการเจาะนี้ สามารถทำได้ตลอด 24 ชม. “หากเจาะเต็มความลึกที่เครื่องสามารถทำได้ จะใช้ระยะเวลาเจาะนานประมาณ 5 ชม. โดยเจาะเพียงแค่จุดเดียวก่อน เพราะเป็นจุดที่คำนวนแล้วว่าเป็นร่องน้ำ”