เฉลยขั้นตอน วิธีการพา หมูป่า ดำน้ำออกจากถ้ำหลวง



นักดำน้ำชาวต่างชาติ พร้อมหน่วย Seals และเจ้าหน้าที่กู้ภัยด้วยเชือก เข้าปฏิบัติการช่วยเหลือ นักฟุตบอลทีมหมูป่าอคาเดมีในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ประเมินสภาพร่างกายของเด็ก ก่อนทยอยนำออกมา

นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย ได้ให้ข่าวต่อสื่อมวลชนถึงความคืบหน้า หลังจากนักดำน้ำนานาชาติและหน่วยซีล ได้เริ่มปฏิบัติการเข้าไปช่วยเหลือนำทีมนักฟุตบอลหมูป่าอคาเดมีออกจากถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนว่า ทุกคนเริ่มปฏิบัติการเมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการดำน้ำในถ้ำจากต่างประเทศ จำนวน 13 คน ได้เข้าไปดำน้ำเพื่อกู้ภัยในถ้ำ ในจำนวนนี้ 10 คนได้ไปประจำที่จุด 9 (จุดที่น้องอยู่) และจุด 6 (จุดกลางทางใกล้สามแยก) ตามแผนงาน เพื่อเริ่มกระบวนการนำเด็กออกจากถ้ำ ส่วนอีก 3 คน ทำงานสนับสนุนการช่วยเหลือเด็ก โดยได้เริ่มดำน้ำตามแผนตั้งแต่เวลา 14.00 น.




นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่กู้ภัยอีกจำนวนหนึ่ง นักประดาน้ำ และเจ้าหน้าที่กู้ภัยที่เชี่ยวชาญการกู้ภัยจากไทย สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย จีนและยุโรป ประจำการอยู่ที่บริเวณโถงหมายเลข 3 จนถึงปากถ้ำ ทั้งนี้ มีการวางระบบรอก เพื่อสนับสนุนการนำเด็กออกจากถ้ำในบริเวณโถงหมายเลข 2 และ 3 ซึ่งมีสภาพพื้นที่ที่มีความยากลำบาก เนื่องจากความซับซ้อนและยากลำบากของสภาพภายในถ้ำ จึงยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะใช้เวลาเท่าใด ที่จะสามารถนำเด็กชุดแรกออกจากถ้ำได้ โดยนักประดาน้ำจะทำงานร่วมกับแพทย์ภายในถ้ำ เพื่อประเมินสภาพร่างกายของเด็กๆ และพิจารณาความเหมาะสมว่าเด็กคนไหนจะถูกนำตัวออกมาเป็นชุดแรก เนื่องจากความซับซ้อนของถ้ำและความยากของการปฏิบัติการ จึงยังไม่สามารถระบุได้ว่าเด็กกี่คนจะสามารถออกจากถ้ำในการดำเนินการครั้งแรก




แถลงความสำเร็จ ช่วยทีมหมูป่าอคาเดมี 4 คนแรก ออกจากถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนได้สำเร็จ ยังคงมุ่งหน้าเร่งช่วยที่เหลือให้ปลอดภัยทุกคน

นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย และคณะ ร่วมแถลงข่าวแห่งความสำเร็จ ปฏิบัติการช่วยเหลือทีมนักฟุตบอลหมูป่าอคาเดมีพร้อมผู้ฝึกสอน 4 คนแรกออกมาจากถ้ำหลวงฯ ได้สำเร็จ เป็น 16 วันแห่งการรอคอยที่คุ้มค่าที่สุด หลังจากทุกฝ่ายได้ปฏิบัติการอย่างเต็มที่ วันนี้มีความพร้อมทั้งระดับน้ำที่ลดลงไปมาก อากาศที่เอื้ออำนวย สภาพร่างกายและจิตใจของเด็กและพ่อแม่ และทีมบุคลากรที่ทำงาน ซึ่งภารกิจมีทั้งหมด 3 ระยะ คือ ค้นหา กู้ภัย และส่งกลับ ซึ่งสามารถกู้ภัยและส่งตัวน้องๆ 4 คนแรกถึงโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์อย่างปลอดภัยทุกคน ปฏิบัติการดังกล่าวใช้เจ้าหน้าที่เทคนิคดำน้ำ 13 คน โดย 10 คน เป็นนักดำน้ำ อีก 3 คน เป็นฝ่ายเทคนิค มีเจ้าหน้าที่หน่วยซีลไทย 5 นาย เจ้าหน้าที่ดำน้ำกว่า 90 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวต่างประเทศกว่า 50 คน และคนไทยกว่า 40 คน โดยใช้วิธีให้เด็กเกาะอยู่ข้างใต้ตัวเทคนิค ใส่หน้ากากกันน้ำเข้า มีระบบหายใจตามปกติ ให้น้องอยู่ข้างใต้และกอดน้องออกมา ปฏิบัติการวันนี้ประสบความสำเร็จมากกว่าที่คาด คนแรกออกมาจากถ้ำเมื่อเวลา 17.40 น. คนที่สองออกมาหลังจากนั้น 20 นาที นำตัวส่งโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์โดยรถพยาบาลต่อด้วยเฮลิคอปเตอร์ ส่วนคนที่ 3 และ 4 ออกมาในเวลา 19.40 น.และ 19.50 น.

สำหรับปฏิบัติการต่อไป จะทำเมื่อมีความพร้อม ทุกอย่างต้องเตรียมใหม่ โดยเฉพาะขวดออกซิเจนที่ใช้หมดแล้ว จะต้องนำไปวางใหม่ โดยปฏิบัติการถัดไปจะเริ่มอีกไม่เกิน 20 ชั่วโมงนับจากนี้ และสภาพจะต้องเหมือนวันนี้ โดยจะมีการประชุม เชิญทุกทีมมาประเมิน ทั้งระบบลำเลียง ยานพาหนะ ทีมแพทย์ ทีมขนส่ง ทีมบริหารจัดการทั้งหมด ทั้งนี้ระบบส่งตัวโดยรถพยาบาลไปถึงเฮลิคอปเตอร์ราบรื่นมาก ใช้เวลาเพียง 2 นาทีกว่า เร็วกว่าวันซ้อม 5 เท่า เหนือสิ่งอื่นใดคือพระบารมีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงห่วงใย และทรงให้กำลังใจทีมงานทุกคน จนภารกิจสำเร็จลงได้ และจะมุ่งมั่นปฏิบัติภารกิจที่เหลือให้สำเร็จลุล่วงเป็นของขวัญแก่ชาวไทยทั้งประเทศ