Home »
Uncategories »
เภสัชฯ-พยาบาล เถียงกันเสียงแตก! พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ พยาบาลจ่ายยาได้!
เภสัชฯ-พยาบาล เถียงกันเสียงแตก! พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ พยาบาลจ่ายยาได้!
หลังจากกรณีองค์กรวิชาชีพเภสัชกรรมออกมาคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ….
ฉบับใหม่ ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) จัดทำขึ้นแทน พ.ร.บ.ยา
พ.ศ.2510 ซึ่งเคยเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) มาหลายครั้ง
แต่ไม่ผ่านการพิจารณา กลายเป็นกฎหมายที่ใช้มานานกว่า 50 ปี
ล่าสุดแม้จะผ่านการประชาพิจารณ์และเสนอต่อเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(ครม.)
แต่ก็ถูกให้นำเข้าสู่การประชาพิจารณ์ผ่านเว็บไซต์อย่างเป็นทางการอีกครั้ง
เพื่อรวบรวมประเด็นต่างๆ ปรากฏว่ายังไม่ทันเสนอ ครม.
องค์กรวิชาชีพเภสัชกรรมก็ออกมาคัดค้าน โดยเฉพาะประเด็นที่มองว่า ร่าง
พ.ร.บ.นี้เปิดช่องให้วิชาชีพอื่นๆ จ่ายยาและขายยาได้
ไม่ใช่แค่เภสัชกรเท่านั้น
ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม
สภาการพยาบาลได้เผยแพร่ประกาศจุดยืนวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์กับความปลอดภัยในการใช้ยา
ผ่านเว็บไซต์เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2561 โดยระบุว่า ขอสนับสนุนร่าง
พ.ร.บ.ยา พ.ศ…. ฉบับผ่านประชาพิจารณ์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 ซึ่งเป็นร่าง
พ.ร.บ.ยา ที่จะเอื้อให้ทุกวิชาชีพทางด้านสุขภาพ
สามารถทำงานร่วมกันบนความทับซ้อนของวิชาชีพในระบบสุขภาพได้ด้วยจิตวิญญาณของทีมสหสาขาวิชาชีพที่มีความเอื้ออาทรต่อกัน
โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ ฯลฯ
ประกาศดังกล่าวยังระบุอีกว่า การศึกษาสาขาพยาบาลศาสตร์ในทุกหลักสูตร
จัดการเรียนการสอนเรื่องยาอย่างเพียงพอ คือ
หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิตเรียนวิชาเภสัชศาสตร์ จำนวน 3 หน่วยกิต
และจัดการเรียนการสอนที่บูรณาการในรายวิชาทางการพยาบาลทุกรายวิชาทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ
จำนวนไม่น้อยกว่า 70 หน่วยกิต
ซึ่งนักศึกษาจะต้องเรียนรู้เรื่องยาและการบริหารยาที่ใช้รักษาพยาบาลผู้ป่วยในแต่ละโรคที่พบบ่อย
ทั้งเรื่องขนาดยา การบริหารยา ผลข้างเคียง
และวิธีการแก้ไขเบื้องต้นหากพบความผิดปกติ
นอกจากนี้ พยาบาลวิชาชีพต้องเรียนรายวิชาการรักษาโรคเบื้องต้น จำนวน 4
หน่วยกิต โดยต้องฝึกประเมินสุขภาพ ทั้งการซักประวัติ ตรวจร่างกาย
วินิจฉัยแยกโรค และให้การรักษาโรคเบื้องต้น
โดยคำนึงถึงความจำเป็นและความปลอดภัยในการใช้ยาเป็นสำคัญ
และจะส่งต่อในรายที่เกินขอบเขตวิชาชีพฯ หรือต้องได้รับการรักษาจากแพทย์
และในหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางสาขาเวชปฏิบัติทั่วไป
(การรักษาโรคเบื้องต้น)
ผู้เข้ารับการอบรมต้องผ่านการอบรมและฝึกปฏิบัติเรื่องการใช้ยาอย่างสมเหตุผล
(Rational Drug Use: RDU)
ร่วมกับการตรวจวินิจฉัยแยกโรคและการรักษาโรคเบื้องต้น
ตลอดจนการให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรังและครอบครัว จำนวน 16 หน่วยกิต
ทั้งนี้
พยาบาลเวชปฏิบัติที่ทำการตรวจวินิจฉัยแยกโรคและการรักษาโรคเบื้องต้นต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อกำหนดที่สภาการพยาบาลประกาศกำหนดไว้
ซึ่งที่ผ่านมาภาคีสภาวิชาชีพด้านสุขภาพได้ให้ความเห็นชอบร่วมกับสภาการพยาบาลให้ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์สามารถใช้ยาจำนวน
18
กลุ่มกับผู้ป่วยที่พยาบาลวิชาชีพได้ให้การวินิจฉัยแยกโรคและตรวจรักษาโรคเบื้องต้นตามขอบเขตที่กฎหมายวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์กำหนด
ดังนั้น
สภาการพยาบาลและผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ขอยืนยันว่า
วิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์จะยืนหยัดดูแลประชาชนให้ปลอดภัย
ตามขอบเขตหน้าที่ของวิชาชีพฯตามกฎหมาย
หลังจากสภาการพยาบาลออกประกาศดังกล่าว
ปรากฏว่ามีผู้มาแสดงความคิดเห็นมากมาย ทั้งพยาบาลและเภสัชกร อาทิ
“การให้วิชาชีพอื่นเข้ามาทำการจ่ายยาได้นั้น อาจเป็นการก้าวก่ายหน้าที่
ซึ่งแต่ละวิชาชีพสุขภาพนั้นมีหน้าที่ของตนเองอยู่แล้ว
ความร่วมมือในระบบสุขภาพคือ ควรทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด
ไม่ใช่การก้าวก่ายหน้าที่ระหว่างกัน”
“การเรียนเพียง 3 หน่วยกิตเกี่ยวกับยาของพยาบาลนั้นเพียงพอแล้วจริงหรือไม่”
“การที่สภาการพยาบาลออกประกาศเช่นนี้ ได้ถามความคิดเห็นของพยาบาลแล้วหรือไม่ เพราะอาจเป็นการเพิ่มภาระงานให้แก่พยาบาลได้”
นอกจากนี้ มีบางข้อเสนอที่ระบุว่า หากให้วิชาชีพอื่นจ่ายยาได้
ในอนาคตอาจไม่มีใครหันมาเรียนเภสัชศาสตร์ เพราะต้องเรียน 6 ปี
แต่พยาบาลเรียน 4 ปี จ่ายยาขายยาได้ และฉีดยาผดุงครรภ์ได้อีก
จนคณะเภสัชศาสตร์อาจต้องปิดตัวลงหรือไม่ และอาจหาเภสัชกรรุ่นใหม่ๆ
ขึ้นมาทดแทนไม่ทัน และหากจะให้พยาบาลสามารถจ่ายยาได้นั้น
อยากให้มาสอบใบประกอบโรคศิลปะของเภสัชกรด้วย