“เผยสัตว์ 5 ชนิด” มีพิษมาพร้อมฝน

ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงมีฝนตกอยู่บ่อยครั้งใครที่มีลูกหลานก็ต้องดูแลทำความสะอาดบ้านให้เป็นอย่างดี เพราะอากาศชื้นแบบนี้ย่อมเป็นที่อยู่ของสัตว์มีพิษหลายชนิดแน่นอน ที่ชอบซุกซ่อนภายในบ้านฉกกัดเราแบบไม่รู้ตัว เราจึงต้องคอยระวังและวันนี้เราก็นำสัตว์ 5 ชนิดที่มีพิษแถมมาพร้อมกับฝนและมักพบเจอมากที่สุดมาให้ได้ชมกัน สัตว์บางชนิดนั้นคุณอาจคิดว่าไม่เป็นอันตรายแต่หารู้ไม่มันมีพิษสงในตัว เอาเป็นว่าจะมีสัตว์อะไรบ้างเราไปชมกันเลย

ตะขาบ
ตัวตะขาบเองจะมีพิษอยู่ที่เขี้ยว 1 คู่ โดยอยู่ที่ปล้องแรกของลำตัว เมื่อโดนตะขาบกัดจึงจะเห็นเป็นรอยเขี้ยวมีจุดเลือด 2 จุด ลักษณะแผลเหมือนจะเป็นรอยไหม้ ซึ่งหลังจากกัดไปแล้ว พิษของตะขาบจะแผ่ซ่าน เกิดอาการบวมแดง ปวด แสบร้อน อาเจียน ปวดหัว มึนงง จนกระทั่งเป็นอัมพาตในบริเวณแผลที่ถูกตะขาบกัด หรืออาจได้รับเชื้อแบคทีเรียจากคมเขี้ยวของตะขาบแทรกซ้อนไปในแผลด้วยแต่พิษของตะขาบก็ไม่รุนแรงถึงกับทำให้เสียชีวิตได้

งู
สัตว์มีพิษร้ายแรงอันดับต้นๆ ที่เราอยากเตือนให้ระวังกันให้ดี เพราะในฤดูฝนแบบนี้งูมักจะหนีน้ำมาอาศัยบ้านคนอยู่ ไม่ก็มักจะเจองูขดตัวอยู่ในรองเท้า ตู้ไปรษณีย์ ใต้ผ้าห่ม ตู้เสื้อผ้า เป็นต้น ส่วนงูมีพิษอีกหนึ่งชนิดที่พบได้บ่อยก็คืองูมีพิษต่อระบบเลือด เช่น งูแมวเซา และงูกะปะ หากถูกกัดจะมีอาการปวดบวมรอบแผล หรือพบตุ่มน้ำเลือดและมีเลือดออกจากแผล ส่วนพิษงูเขียวหางไหม้จะทำให้เกิดอาการบวมลุกลาม เพราะพิษทำให้เลือดในกายไม่แข็งตัว จะพบเลือดออกไม่หยุดในอวัยวะภายใน อย่างช่องท้อง ไรฟัน สมอง หรืออาจทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันจนถึงแก่ชีวิตได้

แมลงก้นกระดก
เมื่อเราสัมผัสโดน แมลงก้นกระดกก็จะปล่อยของเหลวออกมา ทำให้ปวดร้อน คัน ปวดแสบ ผิวไหม้ มีผื่นแดง ตุ่มน้ำ เป็นหนองขึ้นตามบริเวณผิวหนังที่โดนสัมผัส

แมงป่อง
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเป็งแมงมีพิษ พิษร้ายของแมงป่องซึ่งจะอยู่ที่ปลายหาง ทำให้ปวดแสบปวดร้อนทรมาน หรือร้ายแรงถึงตายได้เพียงแค่จึ๊กเดียว โดยแรก ๆ ที่โดนต่อยจะรู้สึกปวดแปร๊บทันที หลังจากนั้นใน 30 นาทีต่อมาจะรู้สึกปวดมาก มีอาการบวมแดงและแสบร้อนที่แผล ปวดหัว อาเจียน มีไข้สูง หัวใจเต้นเร็ว ซึ่งหากไม่รีบรักษาอาจมีอาการชัก น้ำคั่งปอด และอาจเสียชีวิตจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ระบบหายใจล้มเหลว

กิ้งกือ
เป็นสัตว์ที่มากับหน้าฝนและความอับชื้นเช่นกันและเห็นกิ้งกือม้วนตัวกลม ๆ แข็งทื่ออย่างนี้ เขาก็มีพิษเหมือนกันนะ โดยกิ้งกือบางชนิดสามารถปล่อยพิษที่เป็นของเหลวออกจากบริเวณรอยต่อของข้อปล้องได้ หรือบางชนิดอาจปล่อยก๊าซไฮโดรเจนไซยาไนด์ออกมาเพื่อป้องกันตัว