ศาลยุติธรรมยุค4.0! เปิดช่องทางจ่ายค่าปรับ-ค่าธรรมเนียมใหม่ ผ่านบัตรเครดิต-เดบิต-คิวร์อาร์โค้ด

เมื่อวันที่ 22มิถุนายน นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า ศาลยุติธรรมมีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับการให้บริการแก่ประชาชนผู้มาติดต่อราชการศาลและคู่ความในคดีให้ได้รับความสะดวกมากขึ้น ล่าสุด ศาลอาญาได้เพิ่มช่องทางการชำระเงินต่างๆเช่นค่าปรับจำเลย ค่าปรับนายประกัน ค่าธรรมเนียม ฯด้วยบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือการโอนเงินผ่าน Mobile Banking ด้วยเครื่อง EDC ของธนาคารกรุงไทยโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม ทั้งในส่วนของการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือด้วย QR Code การชำระเงินด้วยบัตรเดบิตของธนาคารกรุงไทย และการชำระด้วยบัตรเดบิตของธนาคารอื่น (ยกเว้นค่าธรรมเนียมถึงเดือนธันวาคม 2561) เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่คู่ความ ส่วน การชำระเงินด้วยบัตรเครดิตของทุกธนาคาร จะมีค่าธรรมเนียมเรียกเก็บจากผู้ชำระเงินร้อยละ 1 ของยอดเงินชำระ เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายนเป็นต้นไป
นายสุริยัณห์ กล่าวว่า นอกจากนี้เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา สำนักงานศาลยุติธรรมยังเดินหน้าพัฒนาการให้บริการ โดยได้จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “ศาลยุติธรรมดิจิทัล : ระบบยื่นฟ้องและส่งคำคู่ความ e-Filing version 2” ที่ห้องประชุม ชั้น 5 อาคารสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อให้ทนายความได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบดังกล่าว และสามารถนำไปสู่การปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลังจากที่ได้เปิดใช้ระบบอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2560 เป็นต้นมา ซึ่งเดิมจะใช้กับคดีผู้บริโภคที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นโจทก์ และคดีแพ่งสามัญบางประเภท ได้แก่ คดีซื้อขาย เช่าทรัพย์ เช่าซื้อ ค้ำประกัน จำนอง จำนำ กู้ยืมเงิน และบัตรเครดิต จนมาสู่การพัฒนาระบบให้สามารถเพิ่มประเภทคดีมากขึ้น ได้แก่ คดีผู้บริโภคที่ผู้บริโภคเป็นโจทก์ คดีแพ่งสามัญ คดีไม่มีข้อยุ่งยาก คดีขับไล่ (มโนสาเร่) คดีจัดการมรดก และคดีขอให้เป็นคนสาบสูญ พร้อมกับพัฒนาช่องทางการชำระเงินให้มีความหลากหลายและสะดวกมากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังได้มีการพัฒนาระบบบริการข้อมูลคดีศาลยุติธรรม (Case Management Online Service : CIOS)
“การนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในศาลยุติธรรม จะก่อให้เกิดผลดีในการจัดลำดับ Doing Business ของธนาคารโลก ที่มีการตรวจสอบด้านต่างๆ รวมถึง การนำเอาสื่อเทคโนโลยีมาใช้ในการศาลยุติธรรม เพื่อประเมินความน่าเชื่อถือในการนำเงินทุนมาลงทุนในประเทศไทย อีกทั้งยังสนองตอบนโยบายของนายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา ที่มุ่งเน้นเพิ่มการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการคดี และยังเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายในการเป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรมในปีงบประมาณ 2565 ด้วย”โฆษกศาลยุติธรรม กล่าว
ข่าวจาก : มติชนออนไลน์