กราบหัวใจหมอชายแดน! ลุยไปช่วยชีวิตผู้ป่วยวิกฤต ไม่หวั่นเส้นทางสุดโหด(ภาพชุด)

เป็นเรื่องราวที่สะท้อนความยากลำบากในการเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เมื่อ นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าสองยาง จ.ตาก เขียนเล่าเหตุการณ์ที่ต้องเข้าช่วยผู้ป่วยซึ่งกำลังคลอดลูก และมีอาการวิกฤติ แต่ด้วยระยะทางที่ยากลำบาก ทำให้การเข้าไปช่วยเหลือไม่สามารถทำได้ แต่ด้วยหัวใจของคนเป็นหมอ ได้ใช้ความพยายามเข้าไปในพื้นที่จนได้ ความว่า
#เรื่องเล่าจากชายขอบ
….”ทีมสุขภาพอำเภอท่าสองยาง ในวันที่ฝนตกหนัก”….
14 มิถุนายน 2561 เวลา 17.45 น.
“#หมอค่ะมีแม่คลอดลูกที่วะหมี่คีค่ะ” ผมได้รับแจ้งจากหัวหน้าห้องฉุกเฉิน เสียงกระท่อนกระแท่นปนเสียงหายใจแรงๆ “#แม่อายุ23ปีท้องสี่ก่อนนี้ลูกแท้งและเสียชีวิตไปสองคลอดมาได้3วันแล้วค่ะก่อนคลอดชักเป็นสิบครั้งอ่อนเพลียมาก” บ้านวะหมี่คีห่างจากโรงพยาบาลท่าสองยางกว่า 20 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านที่อยู่บนเขาค่อนข้างไกลและลำบาก
สมัยที่ผมมาอยู่ที่นี่ปีแรก ๆ เราต้องเดินเท้าเข้าไป แต่ตอนนี้หน้าแล้งถนนก็ดีขับรถไปแค่ประมาณชั่วโมงก็ถึง “#ผมว่าเราน่าจะเอารถพยาบาลขับเคลื่อนสี่ล้อไปรับได้นะ” ผมตอบอย่างมั่นใจ “#ค่ะเดี๋ยวหนูจะลองคุยกับน้องในทีมและน้องสาธารณสุขที่รับผิดชอบหมู่บ้านนั้นดู”
เย็นวันนั้น เสียงฝนกระทบกับหลังคาดังจนแทบจะกลบเสียงสนทนา มีแอ่งน้ำขังอยู่เป็นจุดในบริเวณด้านหน้าโรงพยาบาล “#ฝนตกหนักมาได้6วันแล้วไม่เห็นดวงอาทิตย์เลยบนดอยมีดินสไลด์หลายจุดมีร่องน้ำลึกๆพาดผ่านถนนหลายเส้นชาวบ้านออกมาไม่ได้รถยนต์4WDพันโซ่ก็ไปไม่ได้” เสียงของทีมเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลและสาธารณสุขคุยกันเซ็งแซ่ ต่างคนก็เครียดกับเหตุการณ์
เพราะเราต่างก็ไม่อยากสูญเสียโดยเฉพาะชีวิตผู้คน เพราะการคลอดก็เป็นภาวะที่วิกฤติต่อชีวิตแม่และเด็ก เมื่อผมได้รับรายงานอีกครั้ง ความคิดของผมเรื่องจะเอารถไปรับก็เงียบไป แล้วจะทำยังไงต่อ….ชาวบ้านเขาก็ไม่แบกมา เขากลัวแม่จะเป็นอะไร เพราะฝนยังตกอยู่ และระยะทางก็หลายกิโลเมตร
เขาก็อยากให้เรานำรถยนต์ขึ้นไปรับ การที่เราจะขับรถขึ้นไปพวกเราก็มีความเสี่ยงเหมือนกันและก็มั่นใจว่าจะไปไม่ถึง นาฬิกาบอกเวลาว่าใกล้ 6 โมงแล้ว “#เอาอย่างนี้แล้วกันพวกเราคงต้องรอและให้ทางชาวบ้านติดต่อเรามาอีกทีในวันพรุ่งนี้”
ชีวิตหมอ / ในกระท่อมไม้ไผ่เล็กๆ ยกพื้นสูงหลังคามุงหญ้าคา ตั้งอยู่ท้ายหมู่บ้าน มีลานหน้าบ้านที่ตอนนี้กลายเป็นบ่อโคลนขนาดย่อม ๆ ภายในกระท่อมแออัดไปด้วยคน 3-4 คน บันไดทางขึ้นเป็นลำไม้ไผ่พาดกับชานเล็ก ๆของบ้าน ในบ้านค่อนข้างมืด มีเพียงแสงไฟสลัว ๆ จากกองไฟซึ่งให้ทั้งแสงสว่างและความอบอุ่น
ห้องในบ้านมีอยู่เพียงห้องเดียวซึ่งเป็นทั้งที่กิน ที่นอนของสมาชิกทั้งสามคน มีเขียง หม้อสองใบที่ก้นหม้อดำเขรอะแขวนอยู่บนข้างฝา เสื้อผ้ามอมแมมไม่กี่ชุดซึ่งแขวนบนตะปูตอกอยู่ที่เสาไม้ของบ้าน แคร่เล็ก ๆที่ยื่นออกจากตัวบ้านมีจาน ช้อน และอุปกรณ์อีกไม่กี่อย่าง ฝาบ้านซึ่งเป็นไม้ไผ่มีขุยขาวๆ ฉาบเป็นจุด และเคลือบด้วยเขม่าและควันจากกองไฟ
พื้นบ้านที่สร้างจากไม่ไผ่แผ่อยู่เต็มพื้นที่เวลาเดินไปมายุบยาบไม่มั่นคง หมอตำแยซึ่งเป็นยายสูงอายุนั่งอยู่ข้างตัวของแม่ที่นอนโทรมอยู่ข้างๆ ใบหน้ามีเหงื่อเม็ดโป้ง มีกองเลือดปนน้ำคร่ำกลิ่นคละคลุ้ง และมีทารกตัว เย็น ขาวซีดไม่ไหวติง ตัวเด็กยังไม่เปื่อยแสดงว่าเพิ่งเสียชีวิตไม่นาน
ก่อนหน้านั้น ทั้งหมอตำแย สามีและแม่ของเธอกำลังวุ่นวายเพราะตัวเธอชักเกร็งตลอด ก่อนจะคลอด พอคลอดเสร็จอาการชักเกร็งหายไปแต่แม่ที่พึ่งจะเสียลูกไปกลับอ่อนเพลีย ไม่มีแรง แม้กระทั้งการลุกนั่งยังต้องช่วยพยุง
ผ่านไปสองสามวันฝนยังไม่มีท่าทีว่าจะหยุดระดับน้ำที่แม่น้ำใกล้ตัวอำเภอสูงขึ้นจนท่วมที่ดินฝั่งตรงข้ามไปหลายไร่ เห็นเจดีย์สีขาวของฝั่งเมียนม่ามีระดับน้ำท่วมไปครึ่งเจดีย์ จนวันนี้วันที่ฝนเริ่มซาลง สามีของเธอจึงเดินมาหาจุดที่สามารถโทรศัพท์มาถึงโรงพยาบาลเราได้
เช้าวันรุ่งขึ้นหลังจากที่พวกเรารอคอย เสียงโทรศัพท์ของชาวบ้าน แต่ก็ได้ยินแต่ความเงียบเหมือนไม่มีเหตุการณ์อะไร ฝนเริ่มมาห่าง ๆแต่ท้องฟ้าก็ยังมืดไม่มีแสงแดด ตอนเช้าเจ้าหน้าที่สาธารณสุข (พนักงานสุขภาพชุมชน)ของเรา ได้ขี่มอเตอร์ไซค์เข้าไปตามผู้ป่วยที่บ้าน และต้องเดินไปอีกหลายกิโลกว่าจะถึงหมู่บ้าน ก็ยังไม่รายงานอะไรกลับมา
ในที่สุดเราก็ตกลงกันว่าเราจะเอารถพยาบาลขับเคลื่อนสี่ล้อไปพร้อมกับมอเตอร์ไซค์ของน้องเจ้าหน้าที่สาธารณสุขสองสามคน รถพยาบาลของเราไปได้แค่ค่อนทางก็ไปต่อไม่ได้ มีดินไสลด์มาปิดทาง ทีมพยาบาลจึงต้องรออยู่กลางทาง แล้วส่งรถมอเตอร์ไซค์วิบากพันโซ่ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขขึ้นไปต่อ
เมื่อไปถึงบ้านผู้ป่วย มีครอบครัวของผู้ป่วยเฝ้าดู คอยบีบนวดตัว ป้อนข้าวต้ม สภาพร่างกายอ่อนเพลียดู เหลืองซีด พยุงตัวนั่งเองไม่ได้ต้องให้สามีช่วย พวกเราเข้าไปให้การปฐมพยาบาล วัดสัญญาณชีพ เธอถูกอุ้มและหามออกมาจากกระท่อม ตัวเธอสั่นเพราะความเย็นจากลมที่มากระทบบนใบหน้า
พวกเราช่วยเธอซ้อนมอเตอร์ไซค์ขับโดยสามี โดยนำผ้าห่มทอมือ ผืนสีน้ำตาลซีด ๆ มัดเอวตัวเองกับภรรยาไว้ ที่ไหล่ซ้ายมีขวดน้ำเกลือที่มีน้ำเกลือเหลือเพียงครึ่งขวดมัดเอาไว้ ฝนตกเป็นละอองเป็นระยะ ถนนที่ลื่นมีหลุมบ่อ บ่อโคลน บางช่วงเป็นเขาสูง ที่ห้ามพลาดหกล้มเป็นอันขาด การขับขี่ที่มีผู้ป่วยซ้อนท้าย ต้องใช้ความชำนาญในการขี่เป็นพิเศษ ข้ามเขาและทางน้ำหลายจุดเป็นเวลากว่าชั่วโมง
แล้วก็มาถึงจุดที่รถพยาบาลจอดไว้อย่างปลอดภัย พยาบาลให้การประเมินซ้ำพบว่าความดันโลหิตของผู้ป่วยสูง แต่ดูอ่อนเพลียมาก น้ำเกลือที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของเราให้ไว้ก็ยังไหลดีอยู่ ระหว่างทางกลับ ในจุดที่มีสัญญาณวิทยุก็มีการแจ้งมาที่โรงพยาบาลอย่างสม่ำเสมอ
ก่อนใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเพื่อพาผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาล ในเวลา 5 โมงเย็น เป็นการเดินทางที่ไม่ไกล สี่สิบกว่ากิโลเมตรแต่ใช้เวลากว่า 6 ชั่วโมงในการเดินทาง เมื่อผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลพบว่าผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูงมาก เพลียเนื่องจากความเข้มข้นเกลือแร่ในเลือดต่ำมาก
#แม้พวกเขาจะมีหลักประกันสุขภาพลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนแต่ไม่ได้หมายถึงว่าทุกคนจะสามารถเข้าถึงบริการของโรงพยาบาลได้ทุกคน
#นอกจากเงิน #ตัวชี้วัดต่างๆ #เพื่อจูงใจและติดตามการทำงานของบุคลากรแล้ว #การสร้างจิตวิญญาณของบุคลากรเพื่อให้เห็นคุณค่าของงานที่ทำ #สร้างแรงบันดาลใจในการทำงาน #เพื่อสุขภาวะของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน”
ขอขอบคุณทีมสุขภาพของท่าสองยางทุกคนที่ทำให้คำว่า …..#สาธารณสุขเป็นสุขของสาธารณะอย่างแท้จริง”…..
 

 

 

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : ต้อม คนชายขอบ