ขมในปาก รสชาติน้ำลายเฝื่อน เกิดจากอะไร แก้ปากขมยังไงให้หาย

ขมปาก ขมคอ กินอะไรก็รู้สึกรสชาติเฝื่อน ๆ เป็นเพราะอะไรกันแน่ รีบมาดูวิธีแก้ลิ้นรับรสขม

          หากมีอาการขมปาก ขมคอ รู้สึกคอแห้งกินอะไรไม่ค่อยอร่อยมาสักพัก หลายคนคงสงสัยในอาการขมปากของตัวเองอยู่ไม่น้อย งั้นเรามาดูกันค่ะว่าอาการขมปาก รสชาติน้ำลายขม ๆ รวมไปถึงอาการคอแห้ง จริง ๆ แล้วอาการปากขมเกิดจากอะไรได้บ้าง แล้ววิธีแก้ขมปากต้องทำยังไง


น้ำลายบอกโรค

ปากขม เกิดจากอะไร
           ความรู้สึกปากขม มีรสฝาดในปาก บ่งบอกได้ถึงความผิดปกติของระบบประสาท หรือเป็นอาการข้างเคียงของโรคต่าง ๆ ที่ซ่อนอยู่ และแม้แต่การอดหลับอดนอนก็อาจทำให้น้ำลายขมได้เช่นกัน ดังนั้นเราจึงอยากแจกแจงสาเหตุของอาการปากขมว่าเกิดจากอะไรได้บ้าง

1. พักผ่อนไม่เพียงพอ

          การอดหลับอดนอนจะทำให้ระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำงานแปรปรวนไปด้วย เช่น ลิ้นรับรส รสชาติน้ำลาย หรือการไหลเวียนของน้ำในร่างกาย คนที่อดหลับอดนอนจึงมักจะรู้สึกคอแห้ง ปากขมได้ เนื่องจากความผิดปกติของระบบประสาทที่ไม่ได้รับการพักผ่อนที่ดีพอ ฉะนั้นลองเข้านอนให้เร็วขึ้น พักผ่อนให้มากขึ้น แล้วดูซิว่าอาการปากขม ขมในคอจะหายไปไหม

2. ตั้งครรภ์
          อาการปากขมกับการตั้งครรภ์เกี่ยวกันไม่น้อยค่ะ เนื่องจากผู้หญิงเมื่ออยู่ในสภาวะตั้งครรภ์ ระดับฮอร์โมนในร่างกายจะเปลี่ยนแปลงไป โดยฮอร์โมนเอสโตรเจนจะสูงขึ้น ส่งผลให้การรับรส รับกลิ่น ความอยากอาหารเปลี่ยนแปลงไปหมด บางคนไม่เคยชอบกินอาหารบางอย่างก็รู้สึกอยากกินของที่ไม่ชอบนั้นมาก ๆ หรือมีอาการจมูกไวผิดปกติ ได้กลิ่นอะไรก็เหม็นไปหมดซะทุกสิ่ง นี่แหละค่ะอาการเบื้องต้นของคนท้อง ซึ่งก็มักจะเกิดในช่วง 3-4 เดือนแรกของการตั้งครรภ์เท่านั้นเอง

น้ำลายบอกโรค

3. ปัญหาสุขภาพในช่องปาก
          อาการขมปากส่วนใหญ่มักเกิดจากการที่เราแปรงฟันไม่สะอาด เชื้อแบคทีเรีย คราบพลัค คราบอาหารที่ยังติดอยู่บนผิวฟันก็เกิดการหมักหมม ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการอักเสบในช่องปาก ทำให้รู้สึกขมในคอ ลมหายใจไม่สะอาด และมีกลิ่นปากร่วมด้วย ซึ่งเคสนี้แก้ไม่ยากค่ะ เพียงแค่ดูแลรักษาสุขภาพปากและฟันให้ดี โดยนอกจากการแปรงฟันตามปกติแล้ว ก็อย่าลืมแปรงลิ้น ขัดฟันด้วยนะคะ

4. ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด

          ยาบางชนิดมีความขมมาก ๆ เช่น ยาโรคหัวใจ ยาทางจิตเวช ยาต้านซึมเศร้า หรือแม้แต่ยาปฏิชีวนะบางตัวก็มีความขมจากลิเธียม ส่วนประกอบหนึ่งในกลุ่มยาดังกล่าว ดังนั้นในผู้ป่วยที่ต้องกินยารักษาโรคหัวใจ ยาความดัน ยารักษาโรคทางจิตเวช หรือยาปฏิชีวนะ ก็อาจทำให้รสขมติดปากติดคอเป็นเวลาพักหนึ่งได้ ซึ่งวิธีแก้ความขาปากขมคอในเคสนี้แนะนำให้กินผลไม้ฉ่ำน้ำที่มีรสหวานอย่างแตงโม แคนตาลูป แก้วมังกร หรือสตรอว์เบอร์รีล้างปากเพื่อบรรเทาอาการขมปากขมคอสักหน่อย

5. อาหารเสริมก็ทำให้เกิดรสขมในปากได้


          นอกจากยาแล้วพวกอาหารเสริมอย่างวิตามินที่มีส่วนประกอบของซิงค์ ทองแดง หรือธาตุเหล็กค่อนข้างมาก ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการขมปากขมคอในผู้ที่กินวิตามินและอาหารเสริมเหล่านี้เป็นประจำ แต่ถ้าไม่อยากมีรสขมติดปากติดคออีก ลองหยุดกินวิตามินและอาหารเสริมดูสักพักก็ได้ค่ะ

น้ำลายบอกโรค

6. รสขมจากบุหรี่
          หากเป็นสิงห์อมควันก็ไม่น่าแปลกใจนักที่ปากจะขม คอจะแห้ง หรือรู้สึกขมในคอ เพราะสารนิโคตินรวมไปถึงสารเคมีประเภทกาว เบนซิน ปิโตเลียมต่าง ๆ หากสูดดมเข้าไปในปอดมาก ๆ อาจเป็นพิษต่อปอดได้ และมีอาการปากขม ขมในคอ คอแห้งบ่อย ๆ เป็นอาการให้สังเกต

7. เป็นหวัด
          อาการหวัดหรืออาการไข้ที่เป็นอยู่อาจส่งผลต่อระบบประสาทการรับรส บางคนที่เป็นไข้ก็จะมีอาการปากจืด หรือปากคนก็จะมีอาการปากขม กินอะไรไม่ค่อยอร่อยเหมือนเคย ซึ่งพอรักษาไข้หวัดจนหาย อาการปากขม คอขมก็จะหายกลับไปเป็นปกติด้วย

8. สัญญาณโรคกรดไหลย้อน

          ในเคสที่มีน้ำลายขม ร่วมกับรู้สึกขมในปากและลำคอ โดยเฉพาะหลังมื้ออาหาร ให้สงสัยถึงสัญญาณของโรคกรดไหลย้อนเป็นอันดับแรกก่อนเลยค่ะ เพราะรสขมในน้ำลายอาจเกิดจากน้ำดีไหลย้อนขึ้นมาทางหลอดอาหาร ส่อถึงโรคกรดไหลย้อนได้ค่อนข้างจะชัดเจน

9. ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็ง

          ผลข้างเคียงอย่างหนึ่งที่ผู้ป่วยมะเร็งอาจได้รับคืออาการปากขม โดยผลการวิจัยจากสถาบันรักษาโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา ให้ข้อมูลว่า การทำคีโมบำบัดผู้ป่วยมะเร็งอาจส่งผลต่อความสมดุลของแบคทีเรียในช่องปาก ก่อให้เกิดอาการติดเชื้อในช่องปากง่ายขึ้น และอาจผลกระทบต่อประสาทสัมผัสการรับรส ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งมีอาการปากขม คอขม โดยเฉพาะในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย มักจะสูญเสียระบบประสาทการรับรส ทำใหปากรับรสฝาดและขมได้มากกว่ารสชาติอื่น ๆ

น้ำลายบอกโรค

วิธีแก้ปากขม คอขมแก้ยังไงให้หาย

          หากสำรวจแล้วว่าอาการปากขม คอแห้ง คอขมของเราเกิดจากอะไร คราวนี้มาดูกันค่ะว่าถ้ามีอาการขมคอ น้ำลายขม จะแก้ยังไงให้หาย

- จิบน้ำบ่อย ๆ

          อาการปากขม คอขมบางทีก็เกิดจาการที่ร่างกายขาดน้ำ ดังนั้นพยายามจิบน้ำเปล่าบ่อย ๆ เพื่อไม่ให้คอแห้งและเกิดอาการปากขมอีก

- แปรงฟันให้สะอาด
          สำหรับคนที่ไม่ค่อยจะใส่ใจแปรงฟันให้สะอาด มักจะมีพฤติกรรมแปรงฟันแบบรีบ ๆ แนะนำให้ใช้เวลากับการแปรงฟันอย่างถูกวิธีมากขึ้นอีกนิด และถ้าจะให้ดีต้องแปรงลิ้นและใช้ไหมขัดฟันด้วยนะคะ

น้ำลายบอกโรค

- บ้วนปากทุกครั้งหลังมื้ออาหาร
          การบ้วนปากทุกครั้งหลังมื้ออาหารจะช่วยลดการสะสมของเศษอาหารตามซอกฟัน ลดโอการเกิดอาการอักเสบในช่องปาก ซึ่งอาจเป็นที่มาของอาการปากขม น้ำลายขม

- ผสมเบกกิ้งโซดาลงบนยาสีฟันแล้วแปรงฟันตามปกติ

          เบกกิ้งโซดาจะช่วยปรับสมดุลแบคทีเรียในช่องปาก โดยขั้นแรกลองผสมเบกกิ้งโซดากับยาสีฟันแล้วแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ทำต่อเนื่องสัก 1 สัปดาห์ อาการปากขม คอขมน่าจะบรรเทาลงได้บ้าง

- บ้วนปากด้วยเบกกิ้งโซดา
          สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปากขมจากการทำคีโม หรือผู้ป่วยที่ต้องกินยาที่อาจทำให้เกิดอาการปากขมเป็นประจำ แนะนำให้บ้วนปากด้วยเบกกิ้งโซดา โดยผสมเบกกิ้งโซดา 1/4 ช้อนชา และเกลือครึ่งช้อนชาลงในน้ำอุ่น คนให้เข้ากันแล้วนำมาบ้วนปากทุกเช้า วิธีนี้จะช่วยบรรเทาอาการปากขม อาการขมในคอได้บ้าง

- งดสูบบุหรี่หรือยาเสพติดทุกชนิด
          อย่างที่บอกว่าบุหรี่ก็ส่งผลกระทบต่อประสาทการรับรสในปากของเราได้เหมือนกัน ดังนั้นสิงห์อมควันที่มีอาการขมปาก ขมคอ ถึงเวลาที่คุณต้องเลิกบุหรี่อย่างจริงจังแล้วล่ะค่ะ

น้ำลายบอกโรค

- รับประทานผลไม้รสหวาน หรือรสเปรี้ยว

          การรับประทานผลไม้ฉ่ำน้ำหรือผลไม้รสเปรี้ยวเช่น แตงโม แก้วมังกร แคนตาลูป ส้ม สตรอว์เบอรี เกรปฟรุต กีวี จะช่วยบรรเทาอาการขมปาก ขมคอได้ อีกทั้งผลไม้รสเปรี้ยวยังช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำลาย ซึ่งจะทำให้ชุ่มคอ อาการปากขม คอแห้งหายได้ง่าย ๆ เลย

- รักษาโรคที่เป็นอยู่ให้หาย

          เนื่องจากอาการปากขมอาจเกิดจากโรคกรดไหลย้อน หวัด หรืออาการไข้ ดังนั้นถ้าอยากหายปากขม คอขม ก็ต้องรักษาสุขภาพให้ดี รักษาความผิดปกติให้หาย อาการขมปากก็จะหายไปด้วย

          นอกจากนี้ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด และพยายามออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันของเราแข็งแรง ระบบประสาทและอวัยวะต่าง ๆ ก็จะดีขึ้นตามมา สุขภาพก็จะแข็งแรงไม่มีความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้น
          ทว่าหากอาการปากขม คอขมของคุณส่อถึงโรคอะไรบางอย่าง ลองแก้อาการปากขมด้วยตัวเองแล้วก็ยังไม่หาย แนะนำให้รีบปรึกษาแพทย์ถึงความผิดปกติในร่างกายโดยเร็วจะดีกว่า
ขอขอบคุณข้อมูลจาก

healthyandnaturalworld
epainassist