วิธีสยบความก้าวร้าวของลูก เรื่องง่ายๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ทำได้

การเลี้ยงลูก คุณพ่อคุณแม่จะต้องให้การใส่ใจดูแลทุกรายละเอียดและทุกช่วงวัย เพื่อให้เขาเติบโตมาอย่างสมบูรณ์แบบ โดยเด็กในวัย 2-5 ขวบ ถือว่าเป็นวัยที่เริ่มมีความเป็นตัวของตัวเอง มักเอาตนเองเป็นใหญ่หรือเอาแต่ใจตัวเอง เมื่อเวลาเครียด ไม่ได้ดั่งใจ เศร้าหรือเสียใจ โดยที่เขายังไม่รู้จักวิธีจัดการกับอารมณ์ที่เหมาะสมได้ ทำให้เขาต้องระบายอารมณ์ด้วยการอาละวาด ขว้างปาสิ่งของ ร้องไห้งอแงและแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกมา เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นกับลูก พ่อแม่จึงต้องจัดการอารมณ์ของลูกน้อยให้เป็น และเพื่อการเจริญเติบโตที่สมวัย พ่อแม่ควรมีวิธีจัดการรับมือกับเจ้าตัวน้อยดังนี้

คอยบอกเหตุและผลกับลูกด้วยความใจเย็น
เมื่อลูกอาละวาด พ่อแม่จะต้องมีความเข้าใจลูกว่า เขายังเล็กมาก วัยนี้ยังไม่สามารถจะระงับอารมณ์ตนเองได้พ่อแม่ต้องใจเย็นพร้อมรับฟังความรู้สึกของเขาและอธิบายถึงเหตุและผลที่ไม่ควรทำแบบนี้ออกมา แสดงความรู้สึกเห็นใจและเข้าใจว่าเขายังโกรธแต่ไม่ควรทำอาการแบบนี้ ควรหาทางออกให้เขา เช่น ไปปาลูกบอลเพื่อระบายอารมณ์แทน เป็นต้น

สอนให้เข้าใจ และนึกถึงความรู้สึกคนอื่น
พยายามค่อยๆ สอนให้ลูกรู้จักเอาใจคนอื่นมาใส่ใจตน ว่าสิ่งที่เขาทำไม่ถูกต้อง ไม่ควรทำโดยอธิบายว่า หากมีคนอื่นมาทำกับลูกแบบนี้บ้าง เขาจะรู้สึกอย่างไร โดยพ่อแม่ต้องมีวิธีสอนที่ไม่ขัดแย้งกันเอง และหากเมื่อใดที่ลูกทำได้ต้องชมเชยลูก ให้กำลังใจ อาจให้รางวัลแก่ลูก ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาอยากได้เล็กๆ น้อยๆ ก็ได้

คอยบอกห้ามและให้เหตุผล ไม่ลงโทษรุนแรง
หากลูกมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว พ่อแม่ไม่ควรลงโทษลูกด้วยความรุนแรง เช่น ตี เพราะจะทำให้เด็กโกรธ ยิ่งเพิ่มความก้าวร้าวด้วยการตีกลับ เมื่อมีการโกรธมากขึ้นกว่าเดิม ในวัยนี้เขาอาจทำเพื่อดึงความสนใจจากพ่อแม่ เราอาจแค่ดุเตือนลูก หรือบอกห้ามพร้อมให้เหตุผล หากไม่ยอมหยุดพฤติกรรมดังกล่าว ก็ควรลงโทษด้วยการไม่สนใจเขาในช่วงสั้นๆ นั้นก็ได้

ทำผิดต้องยอมรับผิด
สอนให้ลูกรู้จักขอโทษ เมื่อแสดงอาการก้าวร้าว หรือทำร้ายคนอื่น นี่เป็นวิธีเลี้ยงลูกที่ถูกต้อง และหลังจากลูกอารมณ์เย็นลงแล้ว ควรให้เขาได้รับผิดชอบกับอารมณ์ที่ก้าวร้าวของเขา เช่น เก็บของเล่นที่เขาขว้างปา ลูกจะได้เข้าใจว่าเขาจะได้รับผลกระทบอย่างไร วันหน้าเขาจะได้รู้จักยับยั้งอารมณ์และควบคุมตนเองได้มากยิ่งขึ้น

การแก้ปัญหาการก้าวร้าวของลูกใช่ว่าจะแก้ที่ลูกอย่างเดียว ในการเลี้ยงลูกนั้น คุณพ่อคุณแม่จะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูก ไม่ทะเลาะกันให้ลูกเห็น พยายามสร้างบรรยากาศที่ดีและอบอุ่นในบ้าน หลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์ที่รุนแรงหากทำทุกอย่างมาแล้วไม่ได้ผล ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อหาดูว่าลูกจะเป็นโรคอื่นแฝงด้วยหรือไม่ เช่น โรคสมาธิสั้น พร้อมดูว่าสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆ ตัวลูกนั้นเหมาะสมหรือไม่ เช่น ปล่อยให้ลูกดูรายการทีวีที่มีความรุนแรงจนซึมซับหรือเปล่า จะได้รักษาลูกได้หายขาด ตรงกับต้นเหตุที่เป็นนั่นเอง
ขอขอบคุณ
ภาพ :istock