ประเดิมเข้าสู่ฤดูฝน! กรมอุตุฯ เตือน! ฝนตกหนักถึงหนักมาก รายชื่อ 52 จังหวัด

ประเดิมเข้าสู่ฤดูฝน! กรมอุตุฯ เตือน! ฝนตกหนักถึงหนักมาก รายชื่อ 52 จังหวัด


กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเรื่อง การเริ่มต้นฤดูฝนของประเทศไทย พ.ศ.2561 ระบุว่า ฤดูฝนของประเทศไทยในปีนี้ได้เริ่มขึ้นแล้ว เมื่อวันที่ 26 พ.ค.2561 เนื่องจากประเทศไทยมีฝนตกชุกต่อเนื่องเกือบทั่วไป ประกอบกับ ลมระดับล่างที่พัดปกคลุมประเทศไทยได้เปลี่ยนเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งพัดพาความชื้นจากทะเลอันดามันเข้าปกคลุมประเทศไทย ส่วนลมระดับบนได้เปลี่ยนเป็นลมฝ่ายตะวันออกพัดปกคลุม ซึ่งถือว่าเป็นการเข้าสู่ฤดูฝนของประเทศไทยในปีนี้

อย่างไรก็ตาม ในบางช่วงโดยเฉพาะช่วงตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม ปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อยและไม่สม่ำเสมอ ซึ่งจะส่งผลให้มีน้ำไม่เพียงพอสำหรับการเกษตรในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะนอกเขตชลประทาน ประชาชนจึงควรใช้น้ำเพื่อประโยชน์สูงสุด สำหรับฤดูฝนของประเทศไทยตอนบนจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม ส่วนภาคใต้โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกจะยังคงมีฝนตกต่อไปอีกถึงเดือนธันวาคม จึงขอประกาศให้ประชาชน ได้ทราบทั่วกัน

ส่วนลักษณะอากาศทั่วไป ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองต่อเนื่องกับมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณทางตะวันตกของภาคเหนือ และภาคกลาง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังปานกลาง ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง

ลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมอ่าวเบงกอลตอนบน คาดว่าจะเคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศเมียนมาในช่วงวันที่ 29-30 พ.ค. 61 ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนอง กับมีฝนตกหนักบางแห่งด้านตะวันตกของประเทศ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังปานกลาง

พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทยตั้งแต่เวลา 12:00 วันนี้ ถึง 12:00 วันพรุ่งนี้.
ภาคเหนือ มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ ลำพูน ลำปาง สุโขทัย ตาก และกำแพงเพชร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.

ภาคกลาง มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี และชัยนาท อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.

ภาคตะวันออก มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก) มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส
ตั้งแต่จังหวัดพังงาขึ้นมา: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตลงไป: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ ส่วนมากในช่วงบ่ายถึงค่ำ อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.

นายสุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศน้ำและการเกษตร(สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) เปิดเผยว่า สสนก.ได้นำปัจจัยชีวัดใน 3 ดัชนีมาเปรียบเทียบเพื่อคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนในประเทศไทย สำหรับปี 2561 ประกอบด้วย 1.ปริมาณน้ำฝนจากมหาสมุทรแปซิฟิก และทะเลจีนใต้(ONI) พบว่า อยู่ในสภาวะเป็นกลาง และคาดว่าจะมีสภาวะเป็นลานีญาในช่วงเดือนธันวาคม 2560 ถึงต้นปี

2.จากการวิเคราะห์ดัชนีมรสุมด้านมหาสมุทรอินเดีย(DMI) ปัจจุบันพบว่าใกล้เคียงค่าปกติ และ 3.จากการวิเคราะห์ดัชนีของมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือ(POD)ปัจจุบันพบว่ามีค่าต่ำกว่าปกติ เมื่อนำดัชนีทั้ง 3 ภูมิภาค มาวิเคราะห์ เปรียบเทียบกัน พบว่า ปริมาณน้ำฝนของประเทศไทยในปี 2561 จะคล้ายคลึงกับปริมาณน้ำฝนเมื่อปี 2538 คือปริมาณน้ำฝนจะมากกว่าค่าปกติ และคาดว่าฤดูฝนจะมาเร็วกว่าปกติ โดยเฉพาะในเดือนสิงหาคม และเดือนกันยายน จะมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าค่าเฉลี่ย โดยเฉพาะพื้นที่ท้ายเขื่อน ที่ราบภาคกลาง ภาคตะวันออก

“ปริมาณน้ำฝนเมื่อปี 2538 ปริมาณน้ำฝนในค่าปกติอยู่ที่ 1,467 มิลลิเมตร(มม.) แต่ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมานั้นอยู่ที่ 1,523 มม.คือปริมาณน้ำฝนจะมากกว่าปกติประมาณ 10% หากจะเปรียบเทียบกับปริมาณน้ำฝนเมื่อปี 2554 ที่มีน้ำท่วมใหญ่ ขณะนั้นมีปริมาณน้ำฝนสูงกว่าค่าปกติถึง 32% แต่สิ่งที่ต้องระวังในปี 2561 คือ ฝนจะมาเร็วกว่าปกติ โดยฤดูฝนมักจะเริ่มต้นวันที่ 17 พฤษภาคม แต่ปีหน้าฝนจะเริ่มตกตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน หรือต้นเดือนพฤษภาคม เป็นต้นไป คือมาเร็วกว่าปกติประมาณ 2 สัปดาห์และจะตกต่อเนื่องยาวนาน”นายสุทัศน์ กล่าว

ผู้อำนวยการสสนก.กล่าวว่า สิ่งที่จะเหมือนกันกับปี 2538 คือ ช่วงเดือนสิงหาคม ถึงกันยายน นั้นปริมาณน้ำฝนจะมากกว่าค่าปกติ มีพายุเข้ามา 1 ลูก คือ หากฝนตกเยอะ พายุจะมาน้อย ฝนจะมาจากร่องมรสุมเป็นหลัก ซึ่งจะตกแบบแช่นานมากกว่าพายุ คาดว่าฝนจะตกมากทุกภาคและตกแบบยืดเยื้อตัวเลข น้ำฝนค่าปกติเมื่อเดือนสิงหาคม 2538 อยู่ที่ 231 มม. แต่ตกลงมาจริงที่ 307 มม. เดือนกันยายน 2538 ตัวเลขปกติอยู่ที่ 242 มม.แต่ตกลงมาจริง 249 มม.

เมื่อถามว่า สถานการณ์น้ำฝนในรูปแบบดังกล่าว มีอะไรน่าเป็นห่วงหรือไม่ นายสุทัศน์ กล่าวว่า เมื่อปี 2538 ก็มีน้ำท่วมแต่ไม่หนักเท่าปี 2554 ซึ่งหากใช้หลักการ การบริหารจัดการน้ำแบบที่เคยใช้ในปี 2560 คิดว่าน่าจะรับมือได้ไม่ยากนัก แต่สำหรับพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร(กทม.)นั้น น่าเป็นห่วงมากเรื่องที่ปริมาณน้ำฝนแปรเปลี่ยนค่อนข้างมาก ต้องระวังอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะฝนจากร่องมรสุม เพราะกทม.จะมีปัญหาเรื่องฝนตก 1 วัน ต้องใช้เวลา 3-4 วัน กว่าที่น้ำในคลองจะลดลง

หากมีฝนตกต่อเนื่องน้ำในคลองอาจจะเอ่อล้นขึ้นมาได้ ดังนั้นจะต้องมีการบริหารจัดการตรงนี้ให้ดี เตรียมตัวให้มากขึ้น ใช้การคาดการณ์ให้มากขึ้น โดยเวลานี้เรด้า ที่สสนก.ทำงานร่วมกับกรมฝนหลวง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นั้นสามารถตรวจสอบครอบคลุมพื้นที่ได้กว้างมาก อีกทั้งคาดการณ์ได้ค่อนข้างแม่นยำ นำมาใช้ประโยชน์สำหรับการเตรียมพร้อมรับมือน้ำฝน เมื่อถามว่า ปี 2561 นั้น พื้นที่ไหนที่น่าเป็นห่วงที่สุด นายสุทัศน์ กล่าวว่า บริเวณลุ่มแม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน น่าเป็นห่วงที่สุดเพราะฝนจะตกมาก

อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ จ.พิษณุโลก และสุโขทัย และได้อนุมัติโครงการจัดการน้ำที่เชื่อมต่อกัน เพื่อให้เกิดการถ่ายเทน้ำได้ดียิ่งขึ้น แต่เข้าใจว่าโครงการอาจจะเสร็จไม่ทันที่จะรับมือน้ำฝนในปี 2561 นอกจากนี้ พื้นที่ภาคตะวันนออก ภาคใต้ฝั่งตะวันตก บริเวณ จ.ภูเก็ต ระนอง พังงา และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้ง สงขลา และพัทลุง ก็จะมีน้ำฝนมากกว่าปกติ ต้องระมัดระวังให้มาก

เมื่อถามว่า พื้นที่ไหนที่พอจะเป็นตัวอย่างเรื่องการบริหารจัดการน้ำได้ดี แบบไม่ต้องกลัวอะไรทั้งสิ้นได้บ้าง ผู้อำนวยการสสนก.กล่าวว่า ถือว่า กทม.ก็มีระบบบริหารจัดการน้ำได้ค่อนข้างดี แต่มักจะโชคร้ายตรงที่ มีเมฆระเบิดค่อนข้างบ่อย คือ ฝนตกหนักมากในระยะเวลาสั้นๆแล้วหยุดทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันเป็นจุดๆ จะต้องเพิ่มเรื่องการคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนในการเข้าไปบริหารจัดการให้มากขึ้น