9 พฤติกรรมที่เสี่ยงเป็น “โรคซึมเศร้า” มีเกิน 5 ข้อควรระวังและเฝ้าสังเกต

คุณมี 9 พฤติกรรมที่เสี่ยงเป็น “โรคซึมเศร้า” รึเปล่า ??

ว่ากันว่าโรคซึมเศร้านั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็อาจเกิดขึ้นจากความเครียด สังคมรอบข้าง หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิต น้อยมากผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงจะแสดงอาการเหล่านี้ให้คนทั่วไปได้เห็น ฉะนั้น เราลองมาสังเกต 9 พฤติกรรมที่เป็นสัญญาณเตือนของโรคนี้กันดีกว่า เพราะถ้าหากคุณเอง หรือคนใกล้ตัวมีอาการเหล่านี้ 5 ข้อติดต่อกันภายใน 2 สัปดาห์ ก็ให้สงสัยไว้ได้เชียวล่ะว่า โรคซึมเศร้า นั้นกำลังมาเยือนแล้ว

1. มีอารมณ์หงุดหงิด ก้าวร้าว

2. ขาดความสนใจต่อสิ่งรอบข้าง

3. เสียสมาธิ ไม่มีสมาธิจดจ่อเวลาที่ทำสิ่งต่างๆ

4. รู้สึกร่างกาย สมองอ่อนเพลีย

5. เชื่องช้า ทำอะไรก็เป็นไปอย่างช้าๆ

6. รับประทานอาหารน้อยลงกว่าปกติ หรือรับประทานอาหารมากขึ้นกว่าปกติ

7. นอนน้อย หรือนอนมากขึ้นกว่าที่เคยเป็น

8. ชอบตำหนิตัวเอง ซึ่งอาการเช่นนี้จะพบได้มากในผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า

9. รู้สึกอยากฆ่าตัวตาย หรือสังเกตได้ว่าตัวเองมีความคิด หรือความรู้สึกแบบนี้ ก็ขอให้ตั้งข้อสันนิษฐานได้ว่า คนๆ นั้นอาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคคซึมเศร้า

การเตรียมตัวรับมือกับโรคซึมเศร้า

โดยปกติเท่าที่มีการพบข้อมูลขณะทำการรักษา พบว่า ผู้ที่มีเกณฑ์จะเป็นโรคซึมเศร้ามักจะเริ่มเป็นตอนช่วงอายุ 25 ปี หลังจากนั้นก็จะเกิดอาการซึมเศร้าต่อเนื่องไปเป็นระยะยาว ถึงแม้ว่าจะมีการเข้ารับการรักษาแล้ว แต่ก็ยังต้องเฝ้าติดตามอาการอย่างใกล้ชิด

แต่ข้อดีของการเป็นโรคซึมเศร้าอยู่ตรงที่เมื่อเข้ารับการรักษาแล้ว ผู้ป่วยจะสามารถกลับมาใช้ ชีวิตได้เป็นปกติ บางคนมีสติปัญญาที่ดีขึ้น เป็นคนเก่ง ในบางรายสามารถเรียนได้ถึงในระดับปริญญาโท ปริญญาเอก บางรายก็เป็นผู้บริหารระดับสูง เป็นคนที่สามารถประสบความสำเร็จในสังคมได้

โรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้นในผู้ชาย

ว่ากันว่าจำนวนของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เป็นผู้ชายจะพบได้น้อยกว่าผู้หญิง แต่น่าแปลกที่อัตราการฆ่าตัวตายในผู้ชายมีมากกว่า ซึ่งเมื่อเพศชายป่วยเป็นโรคซึมเศร้าแล้ว โอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจก็มีสูงมาก ส่วนใหญ่มักใช้ยาเสพติดและเครื่องที่มีแอลกอฮอล์เป็นตัวช่วยแก้ปัญหาภาวะซึมเศร้านั้น บางรายก็ตั้งหน้าตั้งตาทำงานให้หนัก ถึงแม้จะหงุดหงิดง่าย โกรธง่าย แต่ก็ไม่เคยท้อแท้ หรือสิ้นหวังเลยแม้แต่น้อย จึงเป็นการยากที่แพทย์จะวินิจฉัยโรคนี้ได้ ทั้งที่รู้กันอยู่แล้วว่าผู้ป่วยมักจะปฏิเสธการรักษาอยู่เสมอ

โรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้นในผู้หญิง

จากตรวจพบก็ทำให้รู้ว่าในผู้หญิงนั้นเป็นโรคซึมเศร้าในจำนวนที่มากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่า ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน อาทิ มีประจำเดือน , การตั้งครรภ์ , ภาวะหลังคลอด หรือการเข้าสู่วัยทอง อีกทั้งในชีวิตของพวกเขายังจะต้องรับผิดชอบในหลายๆ อย่าง ทั้งในบ้านและนอกบ้าน ทำให้เกิดความเครียด ในการรักษาก็ทำได้แค่ให้เข้ากำลังใจและทำความเข้าใจกับผู้ป่วยให้มากที่สุด

โรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้นในเด็ก

ไม่ใช่แค่วัยผู้ใหญ่เท่านั้นที่เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า แต่ในเด็กโอกาสที่จะเกิดโรคนี้ก็มีเช่นกัน อาการที่สังเกตเห็นได้ในเด็กเล็ก อาทิ ไม่ไปโรงเรียน , แกล้งทำเป็นป่วย , ติดพ่อแม่ หรือเป็นกังวลกลัวว่าพ่อแม่จะเสียชีวิต ส่วนในเด็กโตก็จะมีอาการเงียบ ไม่ยอมพูดยอมจา , มักมีปัญหาที่โรงเรียน , มองโลกในแง่ร้าย

ซึ่งการวินิจฉัยโรคซึมเศร้าในเด็กนี้ก็ทำได้ยากเช่นเดียวกัน เนื่องจากอารมณ์ของเด็กมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ฉะนั้น พ่อแม่ที่อยู่ใกล้ชิดต้องคอยเป็นผู้สังเกตว่าพฤติกรรมของเด็กเปลี่ยนไปหรือไม่ ถ้าเกิดมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นและเป็นไปตามอาการของโรคซึมเศ้รา ก็ควรจะเดินทางไปพบกุมารแพทย์เพื่อคำปรึกษาและส่งตัวเด็กเข้ารับพิจารณาการรักษา

โรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้นในผู้สูงอายุ

แล้วการเข้าสู่วัยทองนั้นมักทำให้อารมณ์ผกผันไม่เป็นปกติ ซึ่งคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมดาของคนวัยนี้ แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับไม่ใช่เสียทั้งหมด เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่จะแสดงอาการออกทางกายซะมาก โดยตัวยาที่ใช้ก็จะมีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดอาการของโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน หากส่งตัวเข้ารับการวินิจฉัยและรักษา ก็จะทำให้การใช้ชีวิตของผู้ป่วยในวัยนี้มีความสุขอย่างแน่นอน

การรักษาทางจิตใจ

มีวิธีรักษาทางจิตใจอยู่หลายรูปแบบ ในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ซึ่งอาจเป็นการ ”พูดคุย” กับจิตแพทย์ 10 ถึง 20 ครั้ง อันจะช่วยให้ผู้ป่วยเกิดความเข้าใจกับสาเหตุของปัญหา และนำไปสู่การแก้ไขปัญหา โดยการเปลี่ยนมุมมองกับแพทย์ การรักษาทางพฤติกรรมจะช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้วิธีที่จะได้รับความพอใจ หรือความสุขจากการกระทำของเขา และพบวิธีที่จะหยุดพฤติกรรมที่ อาจนำไปสู่ความซึมเศร้าด้วย

การรักษาอีก 2 รูปแบบต่อไปที่มีการศึกษาแล้วว่า สามารถรักษาโรคซึมเศร้าได้ดี คือ การรักษาแบบปรับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และการรักษาแบบปรับความคิดและพฤติกรรม โดยการรักษารูปแบบแรกมุ่งไปที่การแก้ไขปัญหาระหว่าง ผู้ป่วยกับคนรอบข้างที่อาจ เป็นสาเหตุและกระตุ้นให้เกิดความซึมเศร้า ส่วนการรักษาแบบหลังจะช่วยให้ผู้ป่วยเปลี่ยนความคิด และพฤติกรรมในแง่ลบกับตนเอง

ส่วนการรักษาโดยอาศัยทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ก็นำมารักษาโรคนี้ โดยช่วยผู้ป่วยค้นหาปัญหาข้อขัดแย้งภายในจิตใจผู้ป่วย ซึ่งอาจมีรากฐานมาจากประสบการณ์ตั้งแต่เด็ก

โดยทั่วไปสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้ารุนแรง มีอาการกำเริบซ้ำๆ จะต้องการการรักษาด้วยยาร่วมกับการรักษาทางจิตใจควบคู่กัน เพื่อผลการรักษาในระยะยาวที่ดีที่สุด
จะช่วยรักษาตนเองได้อย่างไร
การป่วยด้วยโรคซึมเศร้ามักจะทำให้คุณรู้สึกเพลีย รู้สึกไร้ค่า เหมือนช่วยตัวเองไม่ได้ ไม่มีความหวัง ความคิดในแง่ลบกับตนเองในแบบนี้ มักจะทำให้ผู้ป่วยบางคนท้อถอยและยอมแพ้ เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทราบว่าความคิดหรือความรู้สึก เหล่านี้เป็นเพียงแค่อาการของโรค มิได้สะท้อนเรื่องจริงในชีวิตของคุณอย่างถูกต้องแต่อย่างใด ความคิดเหล่านี้จะค่อยๆหมดไปเมื่อเริ่มต้นการรักษาไปสักระยะหนึ่ง

ในระหว่างนี้คุณควรจะ

  • อย่านำตัวเข้าไปเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ที่ซับซ้อน

  • อย่าตั้งเป้าหมายที่บรรลุได้ยาก หรือเข้าไปแบกความรับผิดชอบมากๆ

  • พยายามย่อยงานใหญ่ให้เป็นงานเล็ก เลือกทำที่สำคัญกว่าก่อน แล้วทำให้เต็มที่เท่าที่จะเป็นไปได้

  • อย่าคาดหวังกับตนเองมากเกินไป เพราะนั่นคือ คุณกำลังสร้างความล้มเหลว

  • ร่วมกิจกรรมที่คุณอาจเพลินใจ เช่น การออกกำลังกาย ดูหนัง ดูกีฬา เข้ากิจกรรมทางศาสนาหรือสังคม แต่อย่าหักโหมหรือหงุดหงิด ถ้ามันไม่ช่วยให้คุณรู้สึกสบายใจขึ้นอย่างทันใจ เพราะอาจใช้เวลาบ้าง

  • อย่าด่วนตัดสินใจกับเรื่องใหญ่ๆ ในชีวิต เช่น ลาออก เปลี่ยนงาน แต่งงาน หรือหย่า โดยไม่ปรึกษาคนอื่นที่รู้จักคุณดีและ มีมุมมองที่เป็นกลางต่อปัญหาพอ ไม่ว่าด้วยเหตุใด พยายามเลื่อนการตัดสินใจออกไปก่อนจนกว่าอาการป่วยของคุณจะดีขึ้น

  • อย่าหวังว่าจะหายจากอาการซึมเศร้าแบบ “ลัดนิ้วมือเดียว” เพราะเป็นไปได้ยาก จงพยายามช่วยตนเองให้มากที่สุด โดยไม่โทษตนเองว่า ที่ไม่หายเพราะตนเองไม่พยายามหรือไม่ดีพอ

  • พึงระลึกว่า จะไม่ยอมรับความคิดในแง่ร้าย บอกตนเองว่ามันเป็นสวนหนึ่งของอาการของโรค และจะหายไปเมื่ออาการของโรคดีขึ้น

ขอบพระคุณแหล่งที่มา : Sanook