สอนให้ลูกหาเงินใช้เองให้ได้ ก่อนที่ลูกจะจบมหาลัย

คำว่า “แม่” มีคุณค่าสำหรับ “ลูก” มาก แต่คงไม่มีคุณแม่คนไหนที่จะไม่อยากเห็นลูกเป็นคนดี และเก่ง ช่วยเหลือตัวเองได้ในยามที่ไม่มีแมีอยู่แล้วใช่ไหมคะ วันนี้เลยมีเรื่องราวที่ดีมาให้คุณแม่ได้อ่านสัก 2 นาที เพื่อจะได้นำไปเป็นแนวคิดในการสอนลูก เพื่ออนาคตที่ดีของลูกในอีก 20ปีข้างหน้า

เมื่อพ่อแม่ กำลังอัดเงินใส่การศึกษาให้ลูก “ตีค่าการศึกษาลูก” อย่างสูงเวอร์มากๆ และได้สะท้อนถึงปัญหาของประเทศไทยของเรา ในด้านการเลี้ยงดูลูก เมื่อได้เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ผลจะออกมาเป็นอย่างไรนั้นไปดูกัน

เมื่อพ่อแม่ชาวไทย กำลังอัดเงินใส่การศึกษาลูก พ่อแม่ชาวไทย รักและห่วงลูกไม่แพ้ชาติใดในโลก พ่อแม่ที่มีกำลัง จะจัดเต็มลูกรัก ตั้งแต่แรกตั้งครรภ์
ฝากท้องอย่างดี คลอดอย่างดี หมออย่างดี เป็นพ่อแม่ที่ “ตีค่าการศึกษาลูก” อย่างสูงเวอร์มาก


วัยเด็ก 2 ขวบเพิ่งเดินแข็ง
เราก็ส่งเข้าเนอสเซอรี่ ปีละ 8 หมื่น กลัวลูกจะพัฒนาการช้าไม่ทันเพื่อน กลายเป็นส่งลูกอายุน้อยเกิน ไปติดหวัดที่โรงเรียน เพราะเด็กยังไม่มีภูมิต้านทาน

วัยอนุบาลยันประถม
พ่อแม่จัดเต็ม ทั้งในและนอกหลักสูตร เด็กอนุบาล 3 ต้องกวดวิชาสอบเข้า ป.1 และเสริมด้วยวาดภาพ จินตคณิต ว่ายน้ำ ไวโอลิน อังกฤษ จีน ไทย เทควันโด้ อูคูเลเล่ ฯลฯ กลัวลูกจะเก่งไม่รอบด้าน กลัวจะน้อยหน้าเด็กข้างบ้าน ลูกเลิกเรียนเดินแทบไม่ตรงทาง


วัยมัธยม อมเปรี้ยวอมหวาน
คราวนี้หนักเลย เรียนพิเศษตอนเย็น ที่สยาม เสาร์-อาทิตย์ จัดเต็มวัน พ่อแม่ยอมทรมานไปนอนบนทางเดินตึกอ.อุ๊ ตึกสยามกิตติ์ เพื่อส่งข้าวส่งน้ำลูกรัก ปิดเทอมไม่มีพัก ส่งลูกเรียนซัมเมอร์ยุโรป ออสเตรลีย บางทีเด็กไม่อยากไป พ่อแม่นี่แหละดันก้นให้ไป บางบ้านหมดเงินกับลูกปีละ 6-7 แสน ยังไม่ทันเข้ามหาลัยกดไปเป็นสิบล้าน พอลูกเรียนจบ บางคนก็คาดหวังว่า ลูกฉันเลี้ยงมาอย่างพิเศษใส่ไข่ เพิ่มข้าว ดังนั้น จะจ้างลูกฉัน มันต้องแพงกว่าสิ นี่ส่งเรียนไปสิบกว่าล้านนะ “ปัญหา คือ คุณค่าของใบปริญญา พ่อแม่ กับ นายจ้าง มองไม่เท่ากัน” พ่อแม่ชาวไทย ตีค่าใบปริญญาลูกรักสูงมาก เพราะเราอยู่ในกระบวนการจ่ายเงินจริง มาอย่างยากลำบาก ยาวนาน 20 ปี นายจ้าง กลับตีค่าไม่สูงเท่าที่คิด

คำถามใหญ่ของเขามี 3 คำถาม คือ
1.ลูกคุณทำอะไรเป็นบ้าง
2.ลูกคุณเคยทำอะไรสำเร็จมาบ้าง
3.ลูกคุณจะมาสร้างความสำเร็จอะไรให้ที่นี่

อย่าลืมว่า ยุคปัจจุบันนี้คือ ตลาดแรงงานที่เปิดกว้าง
เด็กอินเดีย ปากี
พร้อมจะบินมาทำงานที่กรุงเทพ เขียนโค้ด เขียนโปรแกรม อังกฤษเป็นไฟ แถมขยันขันแข็ง

เด็กฟิลิปปินส์ อินโด มาเลย์
พร้อมจะบินมาทำงานที่กรุงเทพ พวกเขาภาษาดีมาก ลอจิกดี คุมโปรเจคต์ พรีเซนต์ดีไม่แพ้ฝรั่ง

เด็กจีน
ไม่ต้องพูดถึง ความขยันอ่าน ขยันขายของ ขยันพบลูกค้า ใจสู้ ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ โดนด่าไม่ยุบ พวกนี้คือยอดเซลล์แมน

วัยปริญญา มหาลัย คณะ
มันเริ่มจะเบลอๆ ไม่ศักดิ์สิทธิ์ เหมือนรุ่นพ่อแม่เมื่อเด็กไทย ต้องสอบสัมภาษณ์กับ Head Hunter สิงคโปร์ โดยมีนายจ้างเป็นฝรั่ง จีน อินเดีย แน่นอนว่าย่อมมีเด็กไทยบางคน ได้ไปต่อเจริญรุ่งเรืองโกอินเตอร์ แต่ก็มีจำนวนมากที่แป้กตั้งแต่อายุยังน้อย


เมื่ออาชีพการงานเดิมๆ กำลังหดตัว จาก Disruptive Technology
เมื่อองค์กรกำลังปรับตัวให้ลีน (Lean) บาง ให้คล่องตัวมีประสิทธิภาพด้วยดิจิตอล Digital Transformation
เมื่องานดีเงินดี กำลังเต็มไปด้วยการแข่งขันที่สูงลิ่ว ด้วยตลาดเคลื่อนย้ายเสรีแรงงานเสรี Globalizaion
พ่อแม่จะใช้ชุดความคิดเดิม แบบสมัยรุ่นตัวเองเพิ่งเรียนจบ ก็คงไม่ได้

ความคิดเห็นส่วนตัว
ถ้าพ่อแม่ชาวไทย(ส่วนหนึ่ง)ที่ลงทุน กับการศึกษาลูกด้วยเงินจำนวนมากๆ และแนวโน้มมีแต่จะรุนแรงขึ้น เราจะลองประหยัดเงินบางส่วน แล้วใช้เงินก้อนเดียวกันนี้ เตรียมให้ลูกไว้ เริ่มทำธุรกิจ ได้ใช้ความพยายามลองผิดลองถูก ริเริ่ม สร้างสรรค์ เป็นผู้ประกอบการ ในยุคสมัยที่อาชีพการงาน ไม่เป็นใจใน อีก 10-15 ปีข้างหน้า เราจะลองเผื่อเวลา จากการศึกษาที่จัดเต็ม(เกิน)ไป ให้เขาได้ลองเรียนรู้ ริเริ่ม ลองเขียนหนังสือ ลองเขียนโปรแกรมสร้างแอพ ลอง design ลองรับงานแปล ลองขายของ ลองลงทุน ฯลฯ ลองหาเงินด้วยตัวเองให้ได้ ก่อนที่เขาจะจบมหาลัย
อันนี้ ช่วยเขาได้ ไม่แพ้การศึกษาในระบบที่แสนแพง พ่อแม่ได้ภูมิใจ ลูกได้ภูมิต้านทานและความแกร่ง