Home »
Uncategories »
แจก 3 สูตรเด็ด การทำแจ่วบองปลาร้าสับสมุนไพร และวิธีเก็บไว้ได้นาน
แจก 3 สูตรเด็ด การทำแจ่วบองปลาร้าสับสมุนไพร และวิธีเก็บไว้ได้นาน
“แจ่ว” หรือ “แก่ว”
ในภาษาอีสานหมายถึงน้ำพริก ส่วนคำว่า “บอง” นั้นพ้องมาจากคำว่าง “บ้อง”
หมายถึงบ้องไม้ไผ่ หรือ กระบอกไม้ไผ่ รวมกันเป็น “แจ่วบอง” หรือ “แจ่วบ้อง”
คือแจ่วที่ประกอบด้วยพริก ข่า ปลาร้า และส่วนผสมสมุนไพรอื่น ๆ
ที่หาได้ทั่วไปในท้องถิ่น แจ่วบองบางตำรับผสมหนังควายลงไปด้วย
แจ่วบองใช้เป็นเครื่องจิ้มกินกับข้าวเหนียว ผักสดหรือนึ่ง
ใช้เป็นเครื่องปรุงรสสำหรับอาหารว่างของลาวที่เรียกว่า ไคแผ่น
ซึ่งเป็นอาหารขึ้นชื่อของหลวงพระบาง
สมัยก่อนเก็บไว้ในกระบอกไม้ไผ่ทำให้แจ่วบองสามารถเก็บไว้ได้นานโดยไม่เน่าเสียง่าย
และเวลาเดินทางไปไหนมาไหนไกลๆ พกพาได้สะดวกอีกด้วย จึงเป็นที่มาของคำว่า
“แจ่วบอง” จนถึงทุกวันนี้
ในช่วงแรกๆ
ปลาร้าบองยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำกันสำหรับรับประทานเฉพาะในครัวเรือน
แต่ปัจจุบัน
มีการพัฒนาการผลิตให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถจำหน่ายในท้องตลาดได้ด้วยการบรรจุในบรรจุภัณฑ์ชนิดต่างๆ
ทั้งขวดแก้ว และพลาสติก พร้อมติดฉลากยี่ห้อให้มีความน่าเชื่อถือขึ้น
ชนิดปลาร้าบอง/แจ่วบอง ตามลักษณะปลาร้าที่ใช้
1. ปลาร้าบองสับ
เป็นปลาร้าบองที่นำตัวปลาร้ามาสับให้ละเอียด
ก่อนนำคลุกหรือตำผสมกับเครื่องเทศ ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งปลาร้าที่มีขนาดใหญ่
และปลาร้าขนาดเล็ก แต่ส่วนมากมักเป็นปลาร้าที่เป็นตัวขนาดกลางถึงใหญ่
2. ปลาร้าบองตัว
เป็นปลาร้าบองที่นำทั้งตัวปลาร้ามาคลุกผสมหรือตำกับเครื่องเทศ
โดยไม่มีการสับตัวปลาร้าให้ละเอียด ทั้งนี้ ปลาร้าบองชนิดนี้
นิยมใช้ปลาร้าที่เป็นปลาขนาดเล็ก และชาวอีสานนิยมทำเฉพาะปลาร้าบองดิบ
ไม่นิยมทำสุก
ชนิดปลาร้าบอง/แจ่วบอง ตามการปรุง
1. ปลาร้าบองดิบ
เป็นปลาร้าที่อาจทำได้ทั้งจากชนิดปลาร้าสับ
และปลาไม่สับที่นำมาคลุกผสมเครื่องเทศ ก่อนจะรับประทาน
โดยไม่มีการผ่านความร้อนหรือทำให้สุกก่อน
2. ปลาร้าบองสุก
เป็นปลาร้าที่อาจทำได้ทั้งจากชนิดปลาร้าสับ
และปลาไม่สับที่อาจคลุกผสมเครื่องเทศแล้วจึงนำมาผ่านความร้อนจนสุกหรือทำปลาร้าให้สุกก่อนนำมาคลุกผสมเครื่องเทศ
ทั้งนี้
การคลุกผสมเครื่องเทศก่อนที่จะนำไปทำสุกจะทำให้ได้ปลาร้าบองสุกที่มีกลิ่นหอมมากกว่าปลาร้าบองสุกที่ผสมเครื่องเทศทีหลัง
เพราะความร้อนจะช่วยให้กลิ่นหอมของเครื่องเทศออกมามากขึ้น
วิธีทำปลาร้าบอง/แจ่วบอง 3 สูตรเด็ด
สูตรที่ 1. ปลาร้าบองดิบประเภทสับ
ส่วนผสม
1.ปลาร้า 0.5 กิโลกรัม
2.ข่า 3 หัว
3.หัวตะไคร้ 5 หัว
4.กระเทียม 5 หัว
5.หอมแดง 10 หัว
6.พริกป่น 2 ทับพี
7.มะขามเปียก 2 ช้อน
8.ใบมะกรูด 15 ใบ
9.มะเขือเทศ 3 ลูก
10.ผงชูรส 2 ช้อน (แล้วแต่ชอบ)
วิธีการทำ
1. นำตัวปลาร้ามาสับให้ละเอียด ซึ่งอาจสับทั้งตัวโดยไม่นำก้างออก (อีสานนิยมทำ) หรือนำมาเลาะเอาก้าง และกระดูกออกก่อนแล้วค่อยสับ
2. เตรียมเครื่องเทศต่างๆ ได้แก่
–
นำตะไคร้ กระเทียม หอมแดง และมะเขือเทศมาอิงไฟให้ร้อน
ก่อนซอยให้เป็นแผ่นบางๆ แล้วตำบดให้ละเอียด ส่วนมะเขือเทศยังไม่ต้องตำ
ให้ฝานเป็นชิ้นเล็กๆหรืออาจตำผสมด้วย
แต่ให้ตำทีหลังที่เครื่องเทศอื่นละเอียดแล้ว
– ใบมะกรูดซอยเป็นฝอยเล็กๆ
– มะขามเปียกนำมาแช่น้ำประมาณ 3 ช้อน
3. นำเครื่องเทศที่ซอยไว้คลุกผสม
ร่วมกับพริกป่น ผงชูรส และมะเขือเทศ
ส่วนใบมะกรูดอาจคลุกผสมพร้อมหรือใช้โรยหน้าก็ได้
ซึ่งจะได้ปลาร้าบองสับพร้อมรับประทาน
สูตรที่ 2. ปลาร้าบองดิบทั้งตัว
ส่วนผสม
1. ปลาร้า ขนาดเล็ก 5-10 ตัว แล้วแต่ขนาด
2. ข่า 1 หัว
3. หัวตะไคร้ 1 หัว
4. กระเทียม 2 หัว
5. หอมแดง 2 หัว
6. พริกป่น 2 ช้อน
7. มะขามเปียก 1 ช้อน
8. ใบมะกรูด 5 ใบ
9. มะเขือเทศ 1 ลูก
10. ผงชูรส 1 ช้อนเล็ก (แล้วแต่ชอบ)
วิธีการทำ
1. นำตัวปลาร้าวางใส่ถ้วย พร้อมกับน้ำปลาร้าประมาณ 2 ช้อน
2. เตรียมเครื่องเทศเหมือนข้อที่ 2 ของการทำปลาร้าบองดิบแบบสับ
3. เทเครื่องเทศลงผสม พร้อมกับปรุงรสด้วยชูรส ซึ่งจะได้ปลาบองดิบทั้งตัวที่พร้อมรับประทาน
ข้อแนะนำ
1.
การใส่มะเขือเทศมักทำให้ปลาร้าบองเสียง่ายเมื่อเทียบกับไม่ใส่
ซึ่งหากใส่จะเก็บได้นานประมาณ 3-5 วัน ตามตู้กับข้าว
แต่เก็บในตู้เย็นจะได้นานประมาณ ครึ่งเดือนถึง 1 เดือน
2.
เครื่องเทศที่เก็บมาสดๆ ควรอิงไฟให้ร้อนเสียก่อน โดยเฉพาะตะไคร้ ข่า
กระเทียม และหอมแดง ส่วนใบมะกรูดไม่ต้องอิงไฟก็ได้
ซึ่งจะช่วยยืดอายุของปลาร้าบองที่สามารถเก็บรักษากินต่อได้นานขึ้น
3. สำหรับผู้ที่ไม่ชอบรสเปรี้ยว ก็ไม่ต้องใส่มะขามเปียก
4. สำหรับผู้ที่ชอบหวาน ให้เติมน้ำตาลเล็กน้อย
สูตรที่ 3. ปลาร้าบองสุกแบบสับ
ส่วนผสม
– ใช้ส่วนผสมเหมือนกับการทำปลาร้าบองดิบแบบสับ
วิธีการทำ
1. นำตัวปลาร้ามาสับให้ละเอียดตามข้อที่ 1 ของการทำปลาร้าบองดิบแบบสับ
2. เตรียมเครื่องเทศต่างๆ ตามที่กล่าวข้างต้น
3.
นำปลาร้าที่สับแล้วมาคั่วให้สุก เมื่อสุกแล้วนำเครื่องเทศ
และเครื่องปรุงลงผสม และคั่วต่ออีก 2-3 นาที ขณะคั่วให้ใช้ไฟอ่อน
และหากไม่มีน้ำหรือแห้งมาก ให้เติมน้ำลงคั่วเป็นระยะ
4. นำลงตั้งไว้ให้เย็น ก็จะได้ปลาร้าบองสุกแบบสับพร้อมรับประทาน
ประโยชน์ของสมุนไพร ที่เป็นส่วนประกอบของแจ่วบอง
-ข่า เป็นยาขับลมในลำไส้ แก้บิด ท้องอืด โรคหืด ขับเสมหะ และโรคหลอดลมอักเสบ
ในข่าประกอบด้วย วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 แคลเซียม เส้นใยอาหาร และฟอสฟอรัส
-ตะไคร้ ใช้เป็นยาทาแก้ปวด เช่น
โรครูมาติซัม อาการปวดตามบั้นเอว ช่วยย่อยอาหาร ขับปัสสาวะอย่างอ่อน
ขับเหงื่อ แก้ตกขาว อาเจียน ลดความดันโลหิต ขับลม แก้ไข้ ปวดท้อง
โรคทางเดินปัสสาวะ นิ่ว และอาการปวดเกร็ง
ในตะไคร้ประกอบด้วย วิตามินเอ แคลเซียม ธาตุเหล็ก เส้นใยอาหาร และฟอสฟอรัส
-ใบมะกรูด ผสมมะกรูดช่วยขับลม แก้จุกเสียด แก้ลมวิงเวียน น้ำมะกรูดแก้เลือดออกตามไรฟัน
ในมะกรูดประกอบด้วย เบต้า-แคโรทีน วิตามินเอ วิตามินบี 2 วิตามินซี แคลเซียม และโปรตีน
-กระเทียม มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ลดระดับไขมัน คอเลสเตอรอลและน้ำตาลในเลือด
ในกระเทียมประกอบด้วย เซเลเนียม ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่ทำหน้าที่เป็นตัวประสานการทำงานของเอนไซม์ระหว่างวิตามินอี เอ และซี
-หัวหอม ขับลม ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ ขับประจำเดือน แก้ไข้ แก้หวัด ช่วยย่อยอาหาร เจริญอาหาร
ในหอมแดงประกอบด้วย เซเลเนียมเป็นเกลือแร่ที่ทำหน้าที่เป็นตัวประสานการทำงานของเอนไซม์ระหว่างวิตามินดี เอ และซี
-พริก ช่วยย่อย ทำให้เจริญอาหาร ขับลมขับเหงื่อได้ดี ทำให้รูขุมขนสะอาด ผิวพรรณสดใส และมีสารต้านมะเร็ง
ในพริกขี้หนูประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรต โปรตีน เส้นใยอาหาร แคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินซี และธาตุเหล็ก