รัฐเร่งด่วนตั้งศูนย์ช่วยเหลือ ‘ผู้จบปริญญาตรีว่างงงาน’ ตั้งเป้า 100,000 คน มีงานทำใน 3 เดือน
รมต.“อดุลย์”เผย กระทรวงแรงงาน ออกมาตรการช่วยเหลือผู้จบปริญญาตรีว่างงานเร่งด่วน ตั้งเป้า 100,000 คน มีงานทำใน 3 เดือน ตั้งศูนย์ OSS ทั้งในภูมิภาคและส่วนกลางบูรณาการทำงานกับทุกภาคส่วน เดินหน้าแนะแนว ส่งเสริมอาชีพ จับคู่ตำแหน่งงานกับสถานประกอบการและเครือข่ายจัดหางาน จับมือสถานศึกษาฝึกฝีมือเพิ่มทักษะให้ผู้จบ ป.ตรี
พร้อมสร้างจิตสำนึก เปลี่ยนค่านิยมใหม่ ปรับหลักสูตรให้ตรงกับตลาด ผลักดันกฎหมายส่งเสริมการมีงานทำ เชื่อมโยงฐานข้อมูลรัฐ – เอกชนแก้ปัญหาในระยะยาว เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2561 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมแนวทางแก้ไขการว่างงานของผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์
ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยได้เปิดเผยถึงข้อมูลภาวการณ์มีงานทำของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในเดือนพฤษภาคม 2561 ว่ามีจำนวนคนว่างงานที่จบปริญญาตรีมากที่สุด จำนวน 170,900 คน กระทรวงแรงงานเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะแก้ไขปัญหาการว่างงานของผู้จบปริญญาตรี ซึ่งจะต้องร่วมมือกับหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน
โดยมีสาเหตุหลัก อาทิ การเปลี่ยนงานบ่อย รองานเนื่องจากลาออกจากงานเดิม การเลือกเรียนและจบในสาขาที่ไม่ตรงกับตลาดแรงงาน เลือกเรียนตามกระแส ค่านิยม หรือเรียนตามเพื่อน เลือกงาน รวมทั้งพฤติกรรมเด็กรุ่นใหม่ไม่ชอบทำงานที่อยู่ในกรอบ เป็นต้น พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงาน มีแนวทางการแก้ไขปัญหาว่างงานของผู้จบปริญญาตรีซึ่งกำหนดไว้ 2 ระยะ
คือ ระยะเร่งด่วนภายใน 3 เดือน โดยจัดตั้งศูนย์ OSS ทั้งในภูมิภาคและส่วนกลางขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น นครราชสีมา ระยอง ชลบุรี สุราษฎร์ธานี สงขลา และกรุงเทพมหานคร เพื่อบูรณาการทำงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดเป็นผู้อำนวยศูนย์ฯ มีกรมการจัดหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นเลขานุการ
โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังแนะแนวอาชีพและส่งเสริมอาชีพอิสระให้บัณฑิตมีงานทำ มีรายได้ จำนวน 2,000 อัตรา จับคู่ตำแหน่งงาน (Matching) ระหว่างผู้ที่กำลังหางานทำกับนายจ้างสถานประกอบการ ผ่านศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย เว็บไซต์ http//:smartjob.doe.go.th และ Job box
ของกรมการจัดหางาน 20,000 อัตรา ตำแหน่งงานในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) 4,500อัตรา จัดนัดพบแรงงานในสถานศึกษา (Job Fair) 20,000 อัตรา ตำแหน่งงานในเครือข่าย อาทิ JobDB,BKK job,Jobtopgun,Adecco รวม 28,000 อัตรา ความร่วมมือกับ Line Jobs เพิ่มช่องบริการรับสมัครงานผ่านไลน์ 20,000 อัตรา ตำแหน่งงานในต่างประเทศอีก 500 อัตรา
และกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะบูรณาการกับสถานศึกษาเพื่อเพิ่มทักษะ (Up skill/Re-skill) แก่บัณฑิตที่แจ้งความประสงค์ฝึกอาชีพเพื่อให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ ในหลักสูตรระยะสั้นฝึกอบรมอย่างน้อย 10 วัน อาทิ หลักสูตรภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีดิจิทัล อินโฟกราฟฟิก เทคนิคการนำเสนอ เป็นต้น เป้าหมาย 5,000 คน ในระยะยาวภายใน 1-2 ปี
กระทรวงแรงงานจะบูรณาการทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการในการแนะแนวอาชีพให้แก่นักเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา รวมทั้งปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ การเชื่อมโยงฐานข้อมูลกำลังคนระหว่างภาครัฐด้วยกันและภาคเอกชน การสร้างจิตสำนึกนักเรียน นักศึกษา และครอบครัวให้มีทัศนคติในการเลือกศึกษาต่อหรือเลือกประกอบอาชีพตามความรู้ ความสามารถ
เพื่อให้สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้เร็ว สร้างนิสัยการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการทำงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ผลักดันกฎหมายส่งเสริมการมีงานทำ ปรับปรุงหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ” พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวในท้ายสุด และเมื่อ วันที่ 9 มิถุนายน 2561 นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน
เปิดเผยว่า จากข้อมูลการจ้างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าคนจบการศึกษาระดับปริญญาตรีเป็นกลุ่มที่ว่างงานมากที่สุด โดยมียอดคนตกงานในเดือนพฤษภาคม 2561 สูงถึง 170,900 คน จากผู้จบปริญญาตรีทั้งหมดมีประมาณ 300,000 คนต่อปี โดยการตกงานจำนวนมากแบบนี้มีสาเหตุมาจาก การเลือกเรียนในสายที่ตลาดแรงงานไม่ต้องการ แต่เป็นการเลือกตามกระแส ค่านิยม
หรือเรียนตามเพื่อน ทำให้เกิดปัญหาตกงาน หรือได้งานทำไม่ตรงกับสาขาที่เรียน จนต้องทำงานต่ำกว่าวุฒิการศึกษา รวมถึงผู้ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีบางส่วนยังไม่ต้องการหางานทำ เนื่องจากอยู่ในช่วงการตัดสินใจที่จะศึกษาต่อ หรือพักผ่อนอยู่กับบ้าน นอกจากนี้ ผู้ที่ศึกษาในระดับปริญญาตรีบางส่วน มีความต้องการเพียงใบรับรองคุณวุฒิเท่านั้น
เพราะครอบครัวมีธุรกิจหรืออาชีพที่ต้องการให้บุตรหลานรับช่วงต่ออยู่แล้ว ดังนั้น กระทรวงแรงงาน จึงได้หาแนวทางแก้ไขปัญหาว่างงานดังกล่าว โดยได้ดำเนินโครงการสำรวจความต้องการของผู้สำเร็จการศึกษาในทุกระดับชั้น ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ถึงระดับปริญญาตรี แล้วนำข้อมูลจัดส่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดหางาน รวมถึงการแนะแนวอาชีพ
แก่นักเรียนที่กำลังจะจบระดับมัธยมศึกษา ได้ทราบถึงอาชีพที่ตลาดแรงงานมีความต้องการ เพื่อจะได้เลือกเรียนในสาขาที่ตลาดรองรับ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีตำแหน่งงานว่างทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 180,180 อัตรา ในจำนวนนี้เป็นระดับปริญญาตรี 22,345 อัตรา โดยผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลได้ทั้งที่ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job Center), สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10, สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ, รถบริการจัดหางานเคลื่อนที่
เจาะลึก จบป.ตรี เตะฝุ่นกว่าแสน เลือกมากหรืองานน้อย ? เมื่อเดือนที่ผ่านมา สำนักงานสถิติแห่งชาติได้จัดทำสรุปผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรไทย เผยว่า มีผู้ว่างงาน 3.77 แสนคนคิด โดยระดับการศึกษาที่มีผู้ว่างงานมากที่สุดคือ ระดับอุดมศึกษา 1.57 แสนคน ซึ่งนั่นหมายถึงว่า บัณฑิตระดับปริญญาตรีขึ้นไป เป็นวุฒิที่ตกงานมากที่สุด