สอนปลูกหน่อไม้ฝรั่ง สร้างรายได้วันละ 1000 เงินดี มากๆ

ใครที่คิดจะทำเกษตรแต่ยังคิดไม่ออกว่าจะทำอะไรดีลองมาอ่านกันนี้เป็นการหาข้อมูลตั้งตัวเลยดีกว่าจ้า

นางวาทินี วันทองสังข์ ชาวบ้านที่เป็นเจ้าของสวนหน่อไม้ฝรั่ง ที่สามารถทำรายได้วันละ 1000 บาทกันเลยทีเดียว (เดือนละ 3-4 หมื่นบาท) เยอะกว่าเงินเดือนของใครหลายคนเลยนะเนี่ย ถ้าใครสนใจ วันนี้นายเอจะพาไปดูวิธีการปลูกกัน ทำยังไงถึงจะได้นะวันละพันเนี่ย

พันธุ์หน่อไม้ฝรั่งที่นิยมคือ บร็อคอิมพรู๊ฟ เป็นพันธุ์ลูกผสม เพราะได้หน่อไม้ฝรั่งที่มีรูปร่างและขนาดใหญ่ได้คุณภาพตามมาตรฐานและให้ผลผลิตสูง

ดินที่เหมาะสมต่อการปลูกหน่อไม้ฝรั่ง (Asparagus) ดินที่เหมาะสมต่อการปลูกหน่อไม้ฝรั่ง ได้แก่ ดินที่มีเนื้อดินร่วนจนถึงดินเหนียวร่วน หน้าดินลึกและมีการระบายน้ำดี มีความอุดมสมบูรณ์ระดับปานกลางขึ้นไป ส่วนดินที่มีการระบายน้ำและอากาศไม่ดี มีน้ำขัง มีชั้นดินดานข้างใต้ เป็นกรดและด่างจัด นับว่าเป็นดินที่ไม่เหมาะแก่การปลูกพืช ทั้งนี้เพราะดินดังกล่าวเป็นอุปสรรคที่สำคัญซึ่งขัดขวางการเจริญเติบโตของรากพืช เป็นสาเหตุให้พืชเจริญเติบโตช้าและให้ผลผลิตต่ำ

การเพาะกล้า หน่อไม้ฝรั่ง

1.เมล็ดพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ที่ดีควรจะมีอัตราความงอกสูง (โดยดูจากฉลากที่ติดมากับกระป๋อง) มีความบริสุทธิ์ตรงตามพันธุ์ที่กำหนดไว้ เมล็ดพันธุ์ที่บรรจุกระป๋องจำหน่ายในปัจจุบันหนัก 1 ปอนด์ (453.6 กรัม) จะมีเมล็ดประมาณ 13,000-23,000 เมล็ดแล้วแต่พันธุ์ ซึ่งสามารถเพาะเมล็ดแล้วให้ต้นกล้าสำหรับย้ายปลูกได้ 2-4 ไร่ โดยจะใช้พื้นที่เพาะกล้าประมาณ 500-600 ตารางเมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอัตราความงอกของเมล็ดตลอดจนเทคนิคและวิธีการเพาะกล้าของผู้ปลูก

2. การเตรียมแปลงเพาะกล้า แปลงเพาะกล้าควรเลือกสถานที่ที่เหมาะสม ลักษณะแปลงเพาะกล้าที่ดีควรมีลักษณะดังนี้

2.1 ควรเป็นที่โล่งแจ้ง ไม่มีร่มเงาของต้นไม้ อาคารหรือสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ

2.2 เป็นที่ที่มีการระบายน้ำดี น้ำไม่ท่วมขังเมื่อให้น้ำหรือมีฝนตก

2.3 มีสภาพความเป็นกรดหรือด่างเหมาะสม ควรเป็นกลางหรือกรดเล็กน้อย (พีเอช 6.0-6.8)

2.4 ไม่เป็นที่สะสมของโรค เช่น โรคแอนแทรคโนส โรคลำต้นไม้ โรครากเน่าโคนเน่า

2.5 ไม่เป็นที่สะสมของแมลง เช่น หนอนกระทู้หอม หนอนกระทู้ผักเพลี้ยไฟ

2.6 ควรอยู่ใกล้แหล่งน้ำ

2.7 ดินเป็นดินร่วนปนทรายหรือปรับปรุงให้ร่วนซุยโดยการใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่หมักสมบูรณ์แล้ว

2.8 ควรเป็นที่ที่ปราศจากวัชพืช เช่น แห้วหมู หญ้าแพรก หญ้าปล้อง ฯลฯ หรือได้กำจัดวัชพืชจนหมดแล้ว เมื่อเลือกที่ได้แล้วทำการขุดหรือไถดินให้ลึก เก็บวัชพืชออกให้หมดและตากดินไว้ประมาณ 10-15 วัน จากนั้นจึงย่อยดินให้ละเอียดและใส่วัสดุปรับปรุงดิน

3. วัสดุปรับปรุงดิน มีหลายชนิดขึ้นอยู่กับสภาพของดินที่ใช้ในการเพาะกล้า ปกติมักจะเลือกใช้ดังนี้

3.1 ปุ๋ยหมัก ควรเป็นปุ๋ยหมักเก่า (เมื่อเอามือซุกเข้าไปในกองปุ๋ยจะไม่รู้สึกร้อน)

3.2 ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ สูตร 15-15-15 หรือ 21-0-0

3.3 ปูนขาว

3.4 สารเคมีป้องกันกำจัดโรครา

3.5 สารเคมีป้องกันกำจัดแมลง

3.6 แกลบ ฟาง

3.7 บัวรดน้ำ

3.8 อุปกรณ์การเตรียมแปลง จอบ คราด ไม้ปาดแปลง ไม้ชักร่อง

4.การหยอดเมล็ด นำเมล็ดมาหยอดลงในร่องที่เตรียมไว้ หยอดเมล็ดเป็นจุด ๆ ละ 1 เมล็ดห่างกันจุดละ 10-15 เซนติเมตร โรยทับด้วยฟูราดานบาง ๆ ในร่อง จากนั้นกลบเมล็ดโดยใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้เขี่ยดินขอบร่องลงกลบในร่องบาง ๆ แล้วใช้ฟางคลุมทับบนแปลงหนาพอประมาณ ละลายยาป้องกันเชื้อรา เช่น แคปแทนหรือแมนโคเช็บอัตรา 2 ช้อนแกงต่อน้ำ 10 ลิตร ใส่บัวรดน้ำราดให้ทั่วแปลง จากนั้นรดน้ำตามให้ชุ่ม

5. การให้น้ำ ระยะแรก ๆ จะต้องรดน้ำให้บ่อยครั้ง อย่าปล่อยทิ้งให้แปลงแห้ง หลังจากหยอดเมล็ดได้ประมาณ 10-15 วัน ต้นกล้าจะเริ่มงอก เปิดฟางออกบ้างให้เหลือฟางเพียงบาง ๆ เพื่อให้ต้นกล้างอกได้สะดวกหน่อไม้ฝรั่งต้องการน้ำอย่างสม่ำเสมอในการเจริญเติบโต วิธีการให้น้ำที่เหมาะสมสำหรับในแปลงเพาะกล้า คือควรให้น้ำแบบพ่นฝอยหรือสปริงเกอร์ แต่วิธีนี้จะใช้เงินลงทุนสูงมาก เกษตรกรจึงนิยมให้น้ำแบบอื่น ๆ เช่นปล่อยตามร่อง หรือใช้แบบปั๊มมีสายยางรด ซึ่งลงทุนต่ำกว่า อย่างไรก็ตามหลักการให้น้ำหน่อไม้ฝรั่ง คือต้องให้ต้นกล้าได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอไม่แฉะหรือแห้งจนเกินไป และอย่าให้น้ำฉีดถูกต้นอย่างรุนแรง เพราะจะทำให้ต้นกล้าบอกช้ำทำให้โรคเข้าทำลายได้ง่าย

6. การให้ปุ๋ย การให้ปุ๋ยในระยะแรก ๆ จะให้ในรูปของปุ๋ยละลายน้ำ โดยใช้ปุ๋ยสูตร 21-0-0 อัตรา 10 กรัม (3-4 ช้อนชา) ต่อน้ำ 20 ลิตร ให้สลับกับปุ๋ยสูตร 15-15-15 ในอัตราที่เท่ากัน ละลายปุ๋ยใส่บัวรดน้ำราดบนแปลงแล้วรดน้ำตามให้ชุ่มประมาณ 10-15 วันต่อครั้ง ให้ประมาณ 3-4 ครั้ง จากนั้นเริ่มให้ปุ๋ยเม็ด สำหรับปุ๋ยเม็ดให้ใช้สูตร 15-15-15 อัตรา 15-20 กรัม (5-7 ช้อนชา) ต่อพื้นที่ปลูกประมาณ 1 ตารางเมตรใส่ปุ๋ยเม็ดเดือนละครั้ง ประมาณ 2-3 ครั้ง ใส่พร้อมกับปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก 200-300 กรัม ถ้าไม่มีแรงงานพอในการให้ปุ๋ยแบบละลายน้ำรด ในเดือนแรกให้ใช้ปุ๋ยสูตร 21-0-0 อัตรา 10-15 กรัมต่อพื้นที่ปลูก 1 ตารางเมตร ในเดือนที่ 2 ให้ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 15-20 กรัมต่อ 1 ตารางเมตร ถ้าต้นแสดงอาการขาดไนโตรเจนคือมีอาการปลายยอดเหลือง จะต้องเพิ่มการให้ปุ๋ยสูตร 21-0-0 ในอัตราเท่ากับเดือนแรก หลังจากนั้นให้ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตราเท่ากันทุกเดือน โดยใส่ระหว่างร่องปลูก

ข้อควรระวังในการให้ปุ๋ยหลังจากใส่ปุ๋ยทุกครั้งควรให้น้ำตามอย่างพอเหมาะ เพื่อที่น้ำจะได้ไปละลายปุ๋ยให้เป็นประ โยชน์ต่อหน่อไม้ฝรั่ง การให้ปุ๋ยที่ถูกต้อง ควรใส่แบบฝังปุ๋ยลงในดินใกล้บริเวณรากหน่อไม้ฝรั่ง ไม่ควรใส่ปุ๋ยให้ติดรากหน่อไม้ฝรั่งเพราะอาจจะทำให้ต้นเหี่ยวได้

7. การกำจัดวัชพืช หลังจากกล้าหน่อไม้ฝรั่งงอกแล้ว ควรมีการกำจัดวัชพืชอย่างสม่ำเสมอ การกำจัดวัชพืชในช่วงเดือนแรกของการเพาะกล้าควรทำอย่างระมัดระวังเพราะกล้าหน่อไม้ฝรั่งยังอ่อนแออยู่ หากกระทบกระเทือนอาจทำให้ต้นกล้าตายได้ การใช้มือถอนจะดีที่สุด การกำจัดวัชพืชบนแปลงกล้าไม่ควรใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช แต่ถ้าเป็นรอบ ๆ บริเวณแปลงเพาะกล้า หรือบริเวณทางเดินสามารถใช้สารเคมีได้โดยไม่เกิดปัญหาใด ๆ

8. การตัดแต่งต้นกล้าหน่อไม้ฝรั่ง การตัดแต่งต้นกล้าจะทำให้ต้นโปร่งขึ้น ไม่เป็นที่สะสมของโรคและแมลง และสามารถพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลงได้อย่างทั่วถึง นอกจากนี้การตัดแต่งต้นจะทำให้มีการสะสมอาหารที่เหง้าและตามากขึ้น ทำให้เหง้าและตามีขนาดใหญ่ขึ้น ดังนั้นการตัดแต่งต้นกล้าหน่อไม้ฝรั่งจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งและมักจะทำเมื่อต้นกล้า อายุประมาณ 2 1/2 – 3 เดือนขึ้นไป

9. การพูนโคนต้นกล้า ถ้าต้นกล้าหน่อไม้ฝรั่งมีเหง้าลอยพ้นดิน มักมีสาเหตุมาจากการที่หยอดเมล็ดตื้น หรือให้น้ำแบบสายยางฉีดรด หรือให้น้ำตามร่องจนชะดินลงมา ดังนั้นควรมีการตรวจแปลงกล้าอย่างสม่ำเสมอ ถ้าพบว่าต้นกล้าที่แตกขึ้นมาใหม่มีขนาดเล็กและเป็นฝอย รากและเหง้าเล็กลง ทำให้ได้ต้นกล้าที่ไม่สมบูรณ์ จึงควรทำการพรวนดินกลบเหง้า (พูนโคนต้น) ต้นกล้าด้วย

10. การป้องกันกำจัดโรคและแมลงในระยะต้นกล้า ในระยะนี้อาจมีโรค แมลงและหนอนต่าง ๆ เข้ามาทำลายบ้าง การป้องกันกำจัดก่อนที่ปัญหาจะเกิดขึ้นนับว่าเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง ซึ่งทำได้โดยการฉีดสารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลงประมาณเดือนละ 2 ครั้ง ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับการระบาดของโรคและแมลงด้วย

การเตรียมแปลงปลูกหน่อไม้ฝรั่ง (Asparagus)

แปลงปลูกหน่อไม้ฝรั่งนั้น เกษตรกรนิยมทำแปลงปลูกแบบยกร่อง โดยจะปลูกหน่อไม้ฝรั่งบนสันร่อง สำหรับแนวร่อง นั้นอาจจะมีน้ำขังระหว่างร่องหรือไม่มี น้ำขังก็ได้

1. การยกร่องในที่ลุ่ม มักจะนิยมทำกันในเขต ที่ราบลุ่มซึ่งมีน้ำขังได้ง่าย หรือมีการเปลี่ยนจากการทำนามาเป็นพืชผัก สภาพดินส่วนใหญ่จึงเป็นดินเหนียวหนักหรือดินร่วนเหนียวซึ่งเก็บกักน้ำได้ แต่ดินเหนียวลักษณะแบบนี้ไม่เหมาะต่อการปลูกหน่อไม้ฝรั่ง เนื่องจากหน่อจะแทงออกมาได้ยากกว่าดินร่วนหรือดินทราย ซึ่งหน่อที่ได้จะโค้งหรือคดงอ จึงต้องทำการปรับปรุงสภาพของดินด้วยการใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก เพื่อให้ดินมีความร่วนโปร่งพอที่จะทำให้หน่อแทงออกมาพ้นดินได้อย่างสะดวก ความกว้างของร่องควรกว้าง ประมาณ 4-5 เมตร มีร่องน้ำกว้างประมาณ 1 เมตร โดยใช้ระยะระหว่างต้นประมาณ 50 เซนติเมตร ระยะระหว่างแถวประมาณ 1-1.20 เมตร เพื่อให้เข้าไปเก็บเกี่ยวได้สะดวก

การให้น้ำหน่อไม้ฝรั่งเมื่อปลูกแบบนี้ เกษตรกรนิยมใช้วิธีการตักรดโดยใช้กระบวยหรือแครงรดน้ำ หรืออาจจะใช้เครื่องพ่นน้ำโดยใช้เรือลาก หากใช้เครื่องพ่นน้ำควรทำฝักบัวให้มีรูมากพอ หรือใช้กำลังเครื่องยนต์ที่ไม่แรงเกินไปจนทำให้ต้นเสียหายหรือบอบช้ำจากการถูกน้ำกระแทก การยกร่องแบบนี้มีข้อเสียตรงที่ต้องมีการควรคุมระดับน้ำให้อยู่ไม่ต่ำกว่า 60 เซนติเมตร จากระดับผิวดิน และการเก็บหน่อไม้ฝรั่งก็ไม่สะดวกเพราะต้องข้ามระหว่างร่อง

2. การยกร่องในดินดอน ที่มีสภาพดินร่วนหรือดินทราย เช่น จังหวัดเพชรบูรณ์ นครราชสีมา ประจวบคีรีขันกาญจนบุรี และจังหวัดนครปฐมบางส่วน ลักษณะของดินดังกล่าวไม่สามารถจะเก็บกักน้ำเอาไว้ได้ เกษตรกรจึงทำการยกร่อง เพื่อที่จะให้น้ำแก่ต้นหน่อไม้ฝรั่งโดยการปล่อยน้ำให้ไหลไปตามร่อง การเตรียมแปลงปลูกในที่ดิน จะต่างกับการยกร่องแปลงปลูกในที่ลุ่มตรงที่จะต้องมีการไถปรับระดับหน้าดินให้ลาดไปทางใดทางหนึ่ง โดยมีระดับความลาดเทของพื้นที่โดยประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ โดยให้แนวที่สูงที่สุดอยู่ใกล้แหล่งน้ำมากที่สุด ทั้งนี้เพื่อประหยัดสายยางในการขึ้นน้ำ และยังทำให้การไหลของน้ำเป็นไปได้อย่างสะดวก จากนั้นทำการปรับปรุงสภาพของดิน โดยการใส่ปุ๋ยปมักหรือใส่ปูนขาวการใส่ปุ๋ยหมักจะมากหรือน้อยกว่า 2-3 ตันนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพของดินที่ทำการไถพรวนแล้ว ว่ามีความร่วนซุยเหมาะสมเพียงใด ซึ่งสามารถทดสอบโดยใช้ถังก้นรั่วสูง 50 เซนติเมตร โกยดินใส่ลงไปจนเต็มแล้วราดน้ำลงไป ถ้าน้ำสามารถซึมลงสู่ก้นถังภายใน 1 นาที ก็แสดงว่าสภาพของดินนั้นใช้ได้ แต่ถ้าน้ำไม่สามารถซึมได้ภายใน 1 นาที แสดงว่าต้องเติมปุ๋ยหมักลงไปในดินอีก สำหรับปูนขาวนั้นหากจะให้แม่นยำควรใช้เครื่องมือตรวจสอบความเป็นกรดเป็นด่างของดิน แล้วคำนวณอัตราการใส่ปูนขาวที่เหมาะสมต่อไป ความกว้างของสันร่องในที่ดอน หรือ 120-150 เซนติเมตร ร่องน้ำกว้าง 30-40 เซนติเมตร ส่วนความยาวไม่จำกัดแล้วแต่ขนาดของแปลงปลูก ระยะปลูกที่เหมาะสมคือ ระยะระหว่างต้น 50 เซนติเมตร ระยะระหว่างแถว 150 เซนติเมตร ระยะที่แนะนำนี้ใช้กับพันธุ์ บร็อคอิมพรู๊ฟ เพราะขนาดของกอและขนาดของต้นจะใหญ่กว่าพันธุ์อื่น ๆ

การย้ายกล้าหน่อไม้ฝรั่ง (Asparagus)

หลังจากที่กล้าหน่อไม้ฝรั่งมีอายุได้ 4-6 เดือน ต้นกล้าจะมีความแข็งแรงและมีอัตราการรอดตายสูง พร้อมที่จะให้หน่อที่มีคุณภาพดี จัดอยู่ในเกรดเอ (A) ในปริมาณมาก และให้ผลผลิตยาวนาน แต่เดิมนั้นเกษตรกรมักจะใจร้อน ทำการย้ายกล้าเมื่อกล้ามีอายุเพียง 2-3 เดือน หน่อไม้ฝรั่งที่ได้จะมีคุณภาพด้อยกว่าคือจะเป็นเกรดบี (B) มากกว่าเกรดเอ (A) จึงทำให้ขายผลผลิตได้ในราคาที่ต่ำกว่าเกษตรกรที่ยอมเสียเวลาย้ายกล้าเมื่ออายุประมาณ 4-6 เดือน

อย่างไรก็ดี หากต้นกล้ามีการเจริญเติบโตดี และแข็งแรงพอก็อาจทำการย้ายกล้าได้ก่อนที่ต้นกล้าจะมีอายุ 4-6 เดือน และถ้าหากต้นกล้ามีการเจริญเติบโตไม่ดีและอ่อนแอก็อาจจะต้องยืดระยะเวลาของการย้ายกล้าออกไปอีก

1. เพศหน่อไม้ฝรั่ง หน่อไม้ฝรั่งมีต้นตัวผู้และต้นตัวเมีย ถ้าย้ายกล้าอายุ 6 เดือน จะสามารถคัดแยกเพศได้ การปลูกเป็นการค้าควรเลือกปลูกเฉพาะต้นตัวผู้ เพราะให้หน่อดกและมีขนาดสม่ำเสมอกว่าต้นตัวเมีย ถึงแม้ว่าจะให้หน่อที่มีขนาดเล็กกว่า ผลผลิตที่ได้จากต้นตัวเมียจะตกเกรดมากกว่าผลผลิตที่ได้จากต้นตัวผู้

2. ขนาดกล้าที่เหมาะสม ต้นกล้าที่เหมาะสมในการย้ายปลูก จะต้องมีรากสะสมอาหารขนาดใหญ่ คือมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่ต่ำกว่า 3 มิลลิเมตร มีจำนวนรากประมาณ 40 ราก มีตาขนาดใหญ่ ซึ่งจะสามารถสังเกตได้จากการขุดขึ้นมาดู แต่ถ้าไม่ขุดขึ้นมาก็อาจจะประมาณขนาดของตาและรากได้โดยดูจากการแทงหน่อใหม่ว่ามีขนาดใหญ่หรือไม่

3. การเตรียมกล้าก่อนการย้ายปลูก จะต้องงดให้น้ำในแปลงกล้าประมาณ 2 อาทิตย์ เพื่อที่จะทำให้รากมีความเหนียวไม่เปราะหรือขาดง่ายก่อนถึงวันกำหนดย้ายกล้า 2-3 วัน ควรให้น้ำเพื่อให้ดินอ่อนตัวจะได้ทำการขุดต้นได้ง่าย และควรตัดลำต้นเหนือดินออกให้หมด โดยตัดให้เหลือส่วนที่อยู่เหนือดินประมาณ 10 เซนติเมตร ควรตัดด้วยความระมัดระวังอย่าให้กระทบกระเทือนต่อลำต้นใต้ดิน การใช้กรรไกรตัดหญ้าที่คม ๆ ตัด จะทำให้กระทบกระเทือนต่อลำต้นที่อยู่ใต้ดินน้อยกว่าการตัดด้วยมีดหรือวิธีอื่น ๆ

4. การขุดต้นกล้า ควรใช้จอบ 2 ง่าม ขุดดินให้ห่างจากบริเวณรากให้มากที่สุด แล้วทำการแยกเอาดินที่ติดรากออกด้วยความนุ่มนวล หากมีการเตรียมดินในแปลงเพาะกล้าเป็นอย่างดี คือมีความร่วนซุยดี ดินที่เกาะติดรากอยู่จะหลุดร่วงโดยง่าย หรือออาจจะทำความสะอาดรากโดยการนำไปล้างน้ำก็ได้ เมื่อรากสะอาดดีแล้วนำต้นกล้าไปแช่ไว้ในน้ำที่มีส่วนผสมของสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น เบนเลท หรือ แคปแทน หรือไดเทนเอ็ม 45 ฯลฯ อย่างน้อย 10 นาที จากนั้นจึงนำมาผึ่งให้แห้งก่อนที่จะนำมาใช้ปลูกต่อไป

5. หลุมปลูกและวิธีการย้ายปลูกหน่อไม้ฝรั่ง ก่อนย้ายปลูก 1 วันจะต้องให้น้ำในแปลงปลูกที่เตรียมไว้อย่างดีแล้วเพื่อให้ดินมีความชื้นพอเหมาะต่อการขุดหลุมปลูก สำหรับการเตรียมหลุมปลูกนั้น ควรมีการกำหนดจุดปลูกด้วยการขึงเชือกให้ตึงเพื่อเป็นแนว แล้วใช้ไม้ที่มีความยาว 50 เซนติเมตร ทำเครื่องหมายตำแหน่งที่จะปลูกไว้บนแปลงปลูก โดยใช้ระยะระหว่างต้น 50 เซนติเมตร และระยะระหว่างแถว 150 เซนติเมตร จากนั้นขุดหลุมกว้างประมาณ 15-20 เซนติเมตร ลึก 15-20 เซนติเมตร (1 หน้าจอบ) คลุกเคล้าปุ๋ยหมักที่หมักดีแล้ว 2 กะลามะพร้าว และปุ๋ยวิทยาศาสตร์สูตร 15-15-15 ในอัตรา 2 ช้อนชากับดินที่ขุดขึ้นมา แล้วใส่ลงไปในหลุมปลูก นำกล้าหน่อไม้ลงปลูกให้อยู่ต่ำกว่าระดับผิวดินประมาณ 10 เซนติเมตร โดยแผ่รากให้กระจายออกไปโดยรอบ แล้วกลบดินจากนั้นหยอดฟูราดานไว้รอบต้น (หรือรองก้นหลุม) ประมาณ 1 ช้อนชา เพื่อป้องกันแมลง หรือเสี้ยนดินที่อาจจะมากัดกินต้นกล้าได้

ต้นกล้าที่นำมาปลูก ควรคัดให้มีขนาดไล่เลี่ยกันปลูกในแปลงเดียวกันเพื่อให้การเจริญเติบโตเป็นไปอย่างเสม่ำเสมอทั่วทั้งแปลง หลังจากย้ายปลูกแล้วควรคลุมดินด้วยฟางเพื่อช่วยรักษาความชื้นของดินไม่ให้แห้งเร็วเกินไปและควรรดน้ำผสมยากันราให้ชุ่มแต่อย่าให้ถึงกับแฉะ ในระยะแรกนี้ควรรดน้ำให้วันเว้นวันจนกว่าต้นกล้าจะตั้งตัวได้ (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความชื้นในดินด้วย)

การให้น้ำ หน่อไม้ฝรั่ง (Asparagus)

หน่อไม้ฝรั่งเป็นพืชชอบน้ำ ต้องปลูกในที่มีน้ำชลประทานตลอดปี มีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ อย่าให้แห้งหรือแฉะเกินไป การให้น้ำต้องคำนึงถึงลักษณะของดินและสภาพพื้นที่เป็นสำคัญ อย่างน้อยควรให้สัปดาห์ละ 2 ครั้ง (ให้น้ำระบบร่อง) ถ้าหน่อไม้ฝรั่งขาดน้ำจะทำให้ต้นมีเส้นใยมาก เหนียว หน่อกระด้าง และมีคุณภาพต่ำ การให้น้ำไม่สม่ำเสมอ คือแห้งหรือแฉะเกินไป อาจทำให้ลำต้นแตกเป็นแผลและอาจจะทำให้โรคเข้าทำลายได้ (วิธีการให้น้ำหน่อไม้ฝรั่ง มีหลายวิธีทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่เป็นสำคัญ เช่น การให้น้ำแบบเรือฉีดพ่น การให้น้ำแบบร่อง การให้น้ำแบบสปริงเกอร์ ทั้งนี้เกษตรกรจะต้องคำนึงถึงข้อดีและข้อเสียด้วยว่าจะเลือกให้น้ำวิธีใดจึงจะเหมาะสม)

การให้ปุ๋ย หน่อไม้ฝรั่ง (Asparagus)

1. ปุ๋ยเคมี

เพื่อให้ต้นหน่อไม้ฝรั่งแข็งแรง เจริญเติบโตสม่ำเสมอ จึงควรให้ปุ๋ยลงในแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอเช่นเดียวกัน เช่น หลังจากย้ายปลูก 10-15 วัน ใส่ปุ๋ยสูตร 21-0-0 อัตรา 15 กรัม (5 ช้อนชา) ต่อหลุม หรือ 30 กิโลกรัมต่อไร่ โดยใส่เป็นจุดห่างจากโคนต้นประมาณ 1 คืบ หรือโรยรอบโคนต้นก็ได้แล้วรดน้ำตาม หลักจากนั้นทุก ๆ เดือนใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 15 กรัมต่อหลุม หรือ 30 กิโลกรัมต่อไร่ โดยใส่เป็นจุด ๆ หมุนเวียนกันไป แล้วใช้จอบพรวนดินกลบปุ๋ย

เกษตรบางรายทำการใส่ปุ๋ยหน่อไม้ฝรั่งโดยการโรยรอบต้น แล้วนำปุ๋ยส่วนหนึ่งโรยข้างต้นในร่องน้ำ ก่อนที่จะให้น้ำตาม ซึ่งก็เป็นวิธีที่ให้ผลดีเช่นเดียวกัน

2. ปุ๋ยหมัก

ควรใส่ปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 1-2 ตันต่อไร่ หลังจากใส่ปุ๋ยหมักเสร็จแล้ว ควรพรวนดินในแปลงปลูก และพูนดินกลบโคนต้น การใส่ปุ๋ยหมักนั้นควรใส่ในระหว่างการหยุดพักต้น

การทำค้าง หน่อไม้ฝรั่ง (Asparagus)

ในพื้นที่ที่มีลมแรงและไม่มีแนวบังลม การทำค้างเพื่อช่วยพยุงลำต้นนับเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ประโยชน์ของการทำค้างก็เพื่อที่ ะรักษาลำต้น เหนือดินให้อยู่ได้นานที่สุด ในช่วงก่อนการเก็บเกี่ยวและในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยปกติจะทำค้างเมื่อต้น หน่อไม้ฝรั่ง มีอายุ 2 เดือนหลังจากย้ายกล้าปลูก ไม้ที่ใช้ทำค้างอาจเป็นไม้รวกหรือไม้อื่น ๆ ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-2 นิ้ว ความสูง ของค้าง แล้ว แต่ความเหมาะสม การปักค้างจะปักเป็นจุด ๆ ละ 2 หลัก และใช้เชือกไนล่อนขนาดพอเหมาะขึงตามความยาว ของแปลงระยะห่างของไม้แต่ละจุดประมาณ 2 เมตร หรือแล้วแต่ความเหมาะสม ซึ่งการทำค้างนี้จะทำไปตลอดอายุของการปลูก หน่อไม้ฝรั่งหากไม้ค้างผุควรทำการเปลี่ยนไม้ค้างอยู่เสมอ

การเก็บเกี่ยว หน่อไม้ฝรั่ง (Asparagus)

ควรเก็บเกี่ยวหน่อไม้ฝรั่งหลังจากย้ายปลูกประมาณ 4-5 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้นหน่อไม้ฝรั่งเป็นสำคัญ เมื่อเริ่มเก็บเกี่ยว จะต้องเก็บเกี่ยวทุกวันในช่วงเช้าเวลา 06.00-09.00 น. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำหน่อขาว ต้องเก็บในช่วง ตอนเช้ามืดเวลา 06.00 น. เพราะถ้าหน่อเจริญพ้นดินที่กลบไว้จะทำให้ส่วนปลายของหน่อมีสีเขียวส่วนโคนมีสีขาว ไม่เป็นที่ต้องการ ของโรงงานผลิตหน่อไม้ฝรั่งกระป๋อง แต่ปัจจุบันโรงงานบางแห่งยอมรับหน่อไม้ฝรั่งที่ส่วนปลายมีสีเขียวยาวไม่เกิน 2 นิ้ว ซึ่งเรียกว่า พวกกรีนทิป

การเก็บเกี่ยวหน่อไม้ฝรั่งทำได้ง่าย ในกรณีที่เป็นหน่อสีเขียว จะเก็บเกี่ยวเมื่อหน่อโผล่พ้นผิวดินประมาณ 25 เซนติเมตร โดยใช้มือถอน ส่วนพวกหน่อสีขาวต้องใช้พลั่วขนาดเล็กคุ้ยดินแล้วจึงใช้มือถอน เมื่อถอนแล้วต้องกลบดินให้เรียบร้อย โดยทั่วไปถ้าใช้แรงงานไร่ละ 1 คน จะใช้เวลาเก็บเกี่ยวประมาณ 2 ชั่วโมง และตัดแต่งอีกประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อเริ่มเก็บเกี่ยวแล้ว การเก็บเกี่ยวจะต้องทำต่อเนื่องกันทุกวัน แต่หยุดพักการเก็บเกี่ยวเมื่อสภาพต้นทรุดโทรมมาก (ให้เกรดเอเพียง 20-30 เปอร์เซ็นต์) ของผลผลิตทั้งหมด

การปฎิบัติหลังการเก็บเกี่ยว หน่อไม้ฝรั่ง Asparagus

1. ภายหลังการเก็บเกี่ยว ต้องนำหน่อไม้ฝรั่งเข้าร่มทันที และการดำเนินการขั้นตอนต่าง ๆ ควรจะกระทำในที่ร่มทั้งหมด เช่น การนำไปล้างน้ำสะอาด เพื่อชำระเอาดินและสิ่งสกปรกออก หรือตัดให้ได้ความยาวตามมาตรฐานการรับซื้อ

2. นำหน่อไม้ฝรั่งไปตัดแต่งโคน ให้ได้ความยาวตามที่พ่อค้ารับซื้อต้องการ ปกติจะตัดให้มีความยาว 25 เซนติเมตร คัดเกรดหน่อไม้ฝรั่งออกตามลักษณะที่ต้องการ เช่นเกรดเอตูม เกรดเอบาน เกรดบีตูม เกรดบีบาน เกรดซี และตกเกรด ส่วนขนาดของเส้นผ่าศูนย์กลางที่โคนหน่อนั้น ผู้รับซื้อแต่ละแหล่งจะกำหนดไว้ไม่เท่ากัน ดังนั้น ถ้าเกษตรกรจะปลูกก็ควรทำความตกลงเรื่องเกรดกับผู้ซื้อให้เรียบร้อยก่อน

3. นำหน่อไม้ฝรั่งที่คัดเกรดเรียบร้อยแล้วมา มัดรวมกันเป็นมัด ๆ หนักมัดละประมาณ 1-5 กิโลกรัม เพื่อสะดวกในการบรรจุและถ่ายออกจากภาชนะบรรจุ

4. ต้องทำการขนส่งออกสู่ตลาดหรือผู้รับซื้อให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และในการขนส่ง ถ้าเป็นระยะทางำกล ควรมีการลดความร้อนให้หน่อไม้ฝรั่งโดยการใช้น้ำแข็งป่นโรยสลับกับหน่อไม้ฝรั่งเป็นชั้น ๆ ในภาชนะบรรจุ

ประมาณ 1 ปี จึงสามารถเก็บขายได้ เมื่อออกผลผลิตได้ 2 เดือน จะพัก 1 เดือน หรือ เก็บ 4 รุ่น/ปี สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติเมื่ออากาศหนาวมากและอากาศร้อนจัดก็จะไม่ค่อยออกหน่อ อากาศต้องปกติ

ด้านราคาขายประมาณ 60 บาท/กก.สำหรับหน่อใหญ่ ส่วนหน่อเล็กประมาณ 50 บาท/กก. มีรายได้วันละ 1,000 บาท หรือ 30,000- 40,000 บาท/เดือน