เปิด 10 โรงเรียนที่มีคุณภาพการศึกษาดีที่สุด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เรามักจะได้เห็นการจัดอันดับหรือการแนะนำโรงเรียน มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศกันอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่สวยน่าเรียน คุณภาพการศึกษาเป็นเลิศ ฯลฯ ซึ่งในบทความนี้ แคมปัส-สตาร์ จะพาทุกคนไปรู้จักกับ 10 โรงเรียนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือที่ทุกคนมักจะเรียกกันว่า “ภาคอีสาน” ว่ามีโรงเรียนใดบ้าง ที่น่าเรียน มีคุณภาพการศึกษาเป็นเลิศ แต่ไม่ว่าเราจะเรียนที่ไหนก็แล้วแต่.. ขอแค่เราตั้งใจทุกที่ก็ดีหมดละจ้า

แถมยังในปีการศึกษาที่ผ่านมา 2559 นั้น ยังมีนักเรียนจาก 10 โรงเรียนดังต่อไปนี้ ที่สามารถสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้ ทั้งในรอบรับตรง แอดมิชชัน โควตารับตรง โอลิมปิกวิชาการ คะแนนการสอบ O-net แพทย์ กสพท. ทุนรัฐบาล ทุน ก.พ. ทุน พสวท. การชิงทุนต่างประเทศ และรางวัลชนะเลิศทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี เป็นต้น ถ้าพร้อมแล้วเราไปดูกันเลย


10 โรงเรียนน่าเรียน ภาคอีสาน

1. โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน จ.ขอนแก่น

อักษรย่อ ข.ก., K.K.W

ตราประจำโรงเรียน ประกอบด้วยคบเพลิง เปลวไฟ 3 สี แสดงสีสัญลักษณ์ของโรงเรียน ที่ฐานประกอบด้วยคติพจน์ของโรงเรียน “สุวิชาโน ภวํ โหติ” และแถบริบบิ้นปรากฏชื่อโรงเรียน “โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน”

ประเภท โรงเรียนรัฐบาลประจำจังหวัด (โรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ)

สีประจำโรงเรียน สีชมพู-สีฟ้า-เหลือง

พระพุทธรูปประจำโรงเรียน พระพุทธสุวรรณมหามงคล

คติพจน์ของโรงเรียน สุวิชาโน ภวํ โหติ – ผู้มีความรู้ดี คือผู้เจริญ

ปรัชญาของโรงเรียน ความรู้ดี มีจรรยา กีฬาเด่น ดนตรีดัง

โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน (Khon Kaen Wittayayon School) เป็นโรงเรียนประจำจังหวัดแห่งแรกของขอนแก่น ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2440 โดยนายกิจจการี (จีน ปิยรัตน์) ข้าหลวงกำกับราชการเมืองขอนแก่น ร่วมกับพระนครศรีบริรักษ์ เจ้าเมืองขอนแก่น และอุปฮาด (ท้าวหนูหล้า สุนทรพิทักษ์) จัดตั้งโรงเรียนชั้นมูลศึกษาขึ้น ตามแนวนโยบายด้านการศึกษาของกรมธรรมการ โดยเป็นโรงเรียนตัวอย่างประจำเมืองขอนแก่น ให้ชื่อว่า “โรงเรียนขอนแก่น (ชาย)” นายทับ ฉิมมา เป็นครูใหญ่คนแรก และต่อมาได้ขอพระราชทานนามของโรงเรียนจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่คณะครูและนักเรียน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามโรงเรียนลงมา เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2470 ว่า “ขอนแก่นวิทยายน”

นอกจากนี้โรงเรียนยังเคยได้รับรางวัลดีเด่นระดับประเทศ ในการดำเนินการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน และในปี 2549 โรงเรียนได้ผ่านเกณฑ์การประเมินมาตรฐานคุณภาพการศึกษารอบที่ 2 ของ สมศ. อีกด้วย

เว็บไซต์โรงเรียน http://www.kkw.ac.th/new



2. โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล จ.อุดรธานี

อักษรย่อ อ.พ.

ตราประจำโรงเรียน เป็นรูปคบเพลิง ประกอบเปลวไฟฉายรัศมี ด้านล่างมีแพรอักษรคำขวัญประจำโรงเรียน “นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา”

คติธรรม “นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา” (แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี : ผู้มีปัญญาเปรียบเสมือนมีแสงสว่างส่องนำทางชีวิตให้ก้าวไปถึงจุดหมายปลายทางได้สำเร็จ

คติพจน์ “อุดรพิทย์คือผืนนา ลูกศิษย์ลูกหาคือต้นกล้า มวลประชา ครูอาจารย์ ลูกจ้าง คือน้ำและปุ๋ย”

สีประจำโรงเรียน สีน้ำเงิน-สีชมพู สื่อให้เห็นว่า “ลูกน้ำเงินชมพู ต้องเป็นผู้มีความน่ารัก สุภาพอ่อนน้อม หนักแน่น เข้มแข็ง กล้าหาญ และอดทน”

ต้นไม้และดอกไม้ประจำโรงเรียน ต้นตะแบก และดอกตะแบก

โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล (Udonpittayanukoon School) เป็นโรงเรียนประจำจังหวัดอุดรธานี ประเภทสหศึกษา ระดับมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 20 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งอยู่ที่ถนนศรีสุข ตรงข้ามสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอุดรธานี บนถนนเส้นเดียวกับโรงเรียนอนุบาลอุดรธานี โรงเรียนสตรีราชินูทิศ และโรงเรียนบ้านหมากแข้ง ด้านหลังติดกับถนนศรีชมชื่น ในปัจจุบันโรงเรียนอุดรพิทยานุกูลนั้นเป็นโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนมากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ของประเทศ และเป็นโรงเรียนชั้นนำแห่งหนึ่งของภาคอีสานและของประเทศไทย โดยมีชื่อเรียกอย่างย่อว่า “อุดรพิทย์”

เว็บไซต์โรงเรียน http://www.udonpit.ac.th/




3. โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จ.อุบลราชธานี

อักษรย่อ บ.ม. / B.M.

ตราประจำโรงเรียน ได้กำหนดตราให้เป็นรูปต้นไทรมีอักษร “ร” เกี่ยวที่ลำต้นไทรมีเลข “๕” อยู่ด้านล่าง มีรัศมีกระจายเป็นวงรอบต้นไทร มีชายผ้าเป็นธงปลายสองแฉก และเขียนตรงกลางว่า “เบ็ญจะมะมหาราช” ไว้ด้านล่าง ต่อมา เปลี่ยนเป็นตราพระมหามงกุฎเปล่งรัศมีครอบเลข “๕” ตั้งอยู่บนฐานรูปดอกบัวบาน มีความหมายว่า เป็นโรงเรียนที่สถาปนาขึ้นเพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ในพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี และตั้งอยู่ ณ จังหวัดอุบลราชธานี

สีธงประจำโรงเรียน เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แบ่งครึ่งตามแนวนอน ครึ่งบนเป็นสีเขียว ครื่งล่างเป็นสีแดง สีดังกล่าวมาจากการแข่งขันกีฬาแต่เดิมไม่มีอัฒจันทร์สำหรับนั่งดู นักเรียนต่างรุมดูอยู่รอบสนามปะปนกัน เกิดปัญหาการกระทบกระทั่งกัน โรงเรียนจึงได้ทำธงสามเหลี่ยมสองผืน ผืนหนึ่งสีเขียวอีกสีหนึ่งสีแดง นำไปปักไว้เป็นเขตดูกีฬา

ต้นไม้ประจำโรงเรียน ในปี พ.ศ. 2480 น้อม วนะรมย์ อาจารย์ใหญ่ พร้อมด้วยนักเรียน ได้ปลูกต้นไทรไว้หลังโรงเรียนหลังที่ 2 (บริเวณศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีเดิม ที่ริมทุ่งศรีเมืองด้านทิศตะวันตก) ต้นไทรนั้นจึงเป็นสัญลักษณ์ของโรงเรียน และนักเรียนโรงเรียนนี้มักเรียกตนว่าเป็น “ลูกแม่ไทรงาม”

ปรัชญา “ประพฤติดี มีวัฒนธรรม นำสังคม”

คติธรรม “สุพฺพตธมมฺสํคโม วฑฺฒติ” (ผู้มีความประพฤติธรรม สังคมดี ย่อมเจริญ)

คำขวัญ “วิชา กีฬา ดนตรี คือศักดิ์ศรีของเบ็ญฯ”

โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช (Benchama Maharat School) เป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษประเภทสหศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 29 (อุบลราชธานี, อำนาจเจริญ, ยโสธร) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ จัดการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาสายสามัญ ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ แต่เดิมโรงเรียนนี้เคยเป็นโรงเรียนชายล้วนประจำมณฑลอุบลราชธานี คู่กับโรงเรียนนารีนุกูลที่เป็นโรงเรียนหญิงล้วนประจำจังหวัดอุบลราชธานีในสมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และโรงเรียนชายล้วนประจำจังหวัดในสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว

ชื่อโรงเรียน “เบ็ญจะมะมหาราช” แห่งนี้แตกต่างจากโรงเรียนอื่นที่มีชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่า “เบญจม” ทั้งหลาย เพราะถือเอาตามลายพระหัตถ์ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ได้ประทานนามไว้เมื่อปี พ.ศ. 2458 และเป็นโรงเรียนเดียวที่ต่อท้ายด้วย “มหาราช” ในประเทศไทย

เว็บไซต์โรงเรียน http://www.benchama.ac.th/site/




4. โรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย จ.ร้อยเอ็ด

อักษรย่อ ร.ว. (RW)

ตราประจำโรงเรียน ประกอบด้วยมงกุฎตั้งอยู่บนอักษรย่อ ร.ว. ยอดมงกฎเปล่งรัศมีออกเป็น 9 แฉก อันหมายถึงสิ่งที่งาม 4 ประการได้แก่ รูปร่างงาม ท่าทางงาม วางตัวงาม จิตใจงาม และสิ่งที่ดี 5 ประการได้แก่ วาจาดี ความรู้ดี ความสามารถดี ความประพฤติดี การงานดี

สีประจำโรงเรียน เขียว-แสด โดยสีเขียวหมายถึงสีประจำวันพระราชสมภพของรัชกาลที่ 7 (วันพุธ) ส่วนสีแสดเป็นสีประจำมณฑลร้อยเอ็ด

ดอกไม้ประจำโรงเรียน ดอกชงโค

ปรัชญาของโรงเรียน นตฺถิ ปญฺญา สมาอาภา (แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี)

คำขวัญของโรงเรียน เรียนดี กีฬาเก่ง เคร่งวินัย ใฝ่คุณธรรม

โรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย (Roi-Et Wittayalai School) เป็นสถานศึกษาแห่งแรกของจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งแต่เดิมเป็นโรงเรียนชายล้วน ปัจจุบันจัดอยู่ในประเภทโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ รูปแบบสหศึกษาในมัธยมปลาย และชายล้วนในมัธยมต้น ทำการเรียนการสอนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับช่วงชั้นที่ 3 และช่วงชั้นที่ 4 มีจำนวนนักเรียนมากกว่า 4,000 คน และบุคลากรทางการศึกษาอีกกว่า 200 คน โดยมีเนื้อที่ 27 ไร่ 3 งาน 52 ตารางวา

โดยในช่วงเวลา 100 ปีที่ผ่านมา ร้อยเอ็ดวิทยาลัยได้ทำหน้าที่ผลิตทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าออกมาทำหน้าที่รับใช้สังคมและชุมชนอย่างมากมาย ในฐานะสถานศึกษาที่เป็นผู้นำทางด้านวิชาการ กีฬา และคุณธรรมจริยธรรมทั้งระดับจังหวัดและระดับประเทศ

เว็บไซต์โรงเรียน http://www.rw.ac.th/rw


5. โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ศึกษาศาสตร์) จ.ขอนแก่น

ตราประจำโรงเรียน ได้แก่ ตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นพระธาตุพนม ซึ่งเป็นปูชนียสถาน อันสำคัญและศักดิ์สิทธิ์แห่งภาคอีสาน ประดิษฐานอยู่เหนือขอนไม้แก่น สองข้างมีเทวดาอัญเชิญมิ่งขวัญสิริมงคลจากองค์พระธาตุพนมประทานสู่สถาบันแห่งนี้ พื้นหลังแบ่งเป็น 3 ช่อง หมายถึง คุณธรรมของนักเรียน ได้แก่ วิทยา คือ ความรู้ดี จริยา คือ ความประพฤติดี ปัญญา คือ ความฉลาดเกิดแต่เรียนและคิด

สีประจำโรงเรียน ใช้สีเทา มาจากสีเครื่องแบบนักเรียน หมายถึง มันสมอง และเป็นการรวมกันของสีต่างๆที่มีในโลกอย่างลงตัว

ต้นไม้ประจำโรงเรียน ได้แก่ กาลพฤกษ์ (กัลปพฤกษ์) เป็นต้นไม้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงปลูกพระราชทาน เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนิน ประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พุทธศักราช 2510 ต้นกัลปพฤกษ์เป็นต้นไม้ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ ว่า Cassia bakeriana Craib ลักษณะเป็นต้นไม้ขนาดย่อม พุ่มใบแบนกว้าง ดอกสีชมพู เมื่อโรยจะกลายเป็นสีขาว ออกดอกเป็นช่อช่วงฤดูหนาวย่างเข้าฤดูร้อน เป็นสัญญาณเข้าสู่ฤดูกาลแห่งการสอบไล่

คำขวัญประจำโรงเรียน คุณธรรมนำปัญญา พลานามัยเข้มแข็ง วินัยมั่นคง ดำรงสังคมประชาธิปไตย

ใฝ่หาความรู้ มุ่งสู่สากล

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ศึกษาศาสตร์) (Demonstration School of Khon Kaen University) เป็นหน่วยงานเทียบเท่าภาควิชา สังกัดคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นโรงเรียนทดลองเพื่อศึกษาวิจัย ค้นคว้า ทดลอง และสาธิตวิทยาการทางการศึกษาเพื่อให้เหมาะสมกับความแตกต่างกันระหว่างบุคคล ตั้งอยู่บริเวณริมบึงสีฐานประตูมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ 2 ถนนมะลิวัลย์ มีเนื้อที่ 60 ไร่ จัดการศึกษา 3 ระดับ ได้แก่ ระดับอนุบาล ระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา

เว็บไซต์โรงเรียน http://www.sec.satit.kku.ac.th/



6. โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย จ.นครราชสีมา

อักษรย่อ ร.ส./R.S. (Rajsima)

ตราประจำโรงเรียน เป็นอักษรย่อของโรงเรียนในอักษรไทยคือ อักษร ร เรือ และ อักษร ส เสือ ประดับด้วยสนามสองผืนของโรงเรียนพร้อมคำขวัญ “มานะ – วินัย” อันเป็นคำขวัญประจำโรงเรียน

สีประจำโรงเรียน สีแสด-สีขาว

โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย (Ratchasima Witthayalai School) เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ ประเภทโรงเรียนชายล้วน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งอยู่เลขที่ 1753 ถนนมิตรภาพ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองจังหวัดนครราชสีมา โดยโรงเรียนแห่งนี้เดิมทีมีชื่อว่า “วัดพระนารายณ์มหาราช (วัดกลาง)” ในปี พ.ศ.2442 หลังจากมีพระบรมราชโองการใน “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ที่ทรงขยายการศึกษาออกสู่หัวเมือง โดยอาศัยเรียนบนโรงธรรมของวัด มีฐานะเป็นโรงเรียนหลวงของมณฑลนครราชสีมา ต่อมาได้ย้ายจากโรงธรรมเข้าเรียนในโรงเรียนที่สร้างขึ้นในบริเวณวัด ในวันอาทิตย์ แรม 14 ค่ำ เดือน 4 ปีขาล จัตวาศก 1264 ตรงกับวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2445 (ร.ศ.121) เรียกชื่อว่า “โรงเรียนวัดกลาง” และในเวลาต่อมา เมื่อปี พ.ศ. 2477 ได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น “โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย”

เว็บไซต์โรงเรียน https://sites.google.com/a/rajsima.ac.th/www-rajsima-ac-th/



7. โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย จ.ขอนแก่น

อักษรย่อ ก.น.ว., K.N.W.

ต้นไม้ประจำโรงเรียน ต้นทองกวาวหรือต้นจาน

สีประจำโรงเรียน สีแสด-สีดำ

ตราประจำโรงเรียน เป็นวงกลม 2 วงซ้อนกัน วงนอกใช้ขอบหนักกว่าวงใน ภายในวงกลมมี คบเพลิง ฟันเฟือง วงเวียนแบ่ง (Divider) ลูกดิ่ง และลายกระหนกด้านบนเขียนว่า “แก่นนครวิทยาลัย”

คำขวัญ จรรยาดี มีวิชา กีฬาเด่น เป็นงาน

ปรัชญา “To Each His Own Ability” บุคคลพึงกระทำให้เหมาะสมตามความสามารถ อตฺตสมต เถน กยิรา ทฬฺห (อัด-ตะ-สะ-มะ-ตัง เถ-นะ กะ-ยิ-รา-ทัน-หะ)

โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย (Kaennakhon Wittayalai School) เป็นโรงเรียนรัฐบาลในโครงการโรงเรียนมัธยมแบบประสม (คมส.1) ของกรมวิสามัญศึกษา (ปัจจุบันคือ กรมสามัญศึกษา) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นรุ่นแรกของกรมในจำนวน 6 โรงเรียน ก่อตั้งเมือเดือนพฤษภาคม พ.ศ 2510 โดยมี นายเจือ หมายเจริญ ซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนขอนแก่นวิทยายนและรักษาการในตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัยอีกตำแหน่งหนึ่ง

ปัจจุบันจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษารูปแบบสหศึกษา มีบุคลากร 224 คนเป็นชาย 91 คน หญิง 133 คน วุฒิปริญญาเอก 2 คน ปริญญาโท 51 คน ปริญญาตรี 154 คน และอื่นๆ อีก 17 คน มีการจัดการเรียนการสอนทั้งสิ้น 84 ห้อง นักเรียน 3853 คน ประกอบด้วยนักเรียนชาย 1602 คน หญิง 2251 คน มีผู้อำนวยการสถานศึกษาคือ นายวีระเดช ซาตา

เว็บไซต์โรงเรียน http://www.knw.ac.th/knw2015/




8. โรงเรียนสุรนารีวิทยา จ.นครราชสีมา

อักษรย่อ ส.ร.น., S.R.N

ตราประจำโรงเรียน ตรงกลางเป็นรูปคุณย่าโมครอบด้วยเสมา ข้างล่างเป็นชื่อ “โรงเรียนสุรนารีวิทยา”

สีประจำโรงเรียน น้ำเงิน-ขาว ที่มีความหมายถึงกุลสตรีสุรนารีวิทยา

ต้นไม้ประจำโรงเรียน ต้นเฟื่องฟ้า หมายถึง ความเบิกบาน สว่างไสว ความรุ่งเรืองที่ก้าวไกลแห่งชีวิต

โรงเรียนสุรนารีวิทยา (Sura Nari Witthaya School) เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ ประจำจังหวัดนครราชสีมาประเภทโรงเรียนหญิงล้วน เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึง 6 สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนสุรนารีวิทยา ได้จัดการศึกษาจนเป็นที่ยอมรับของสังคมในการเป็นสถานศึกษาชั้นนำของโรงเรียนมัธยมศึกษาของไทย เป็นสถานศึกษาที่ได้รับรางวัลพระราชทานระดับมัธยมศึกษาประจำปีการศึกษา 2523 และได้รับรางวัลพระราชทานระดับมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษประจำปีการศึกษา 2535 โรงเรียนสุรนารีวิทยาเป็นโรงเรียนที่มีต้นกำเนิดของโรงเรียนมัธยมแบบประสม (Comprehensive School) แห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งได้รับการพัฒนาด้วยความเอาใส่ ทุ่มเท เสียสละอย่างต่อเนื่องจากผู้บริหาร บุคลากรของโรงเรียนตลอดจนนักเรียนและสังคมตลอดมา และสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2468

ในปี พ.ศ. 2547 โรงเรียนสุรนารีวิทยา ได้รับคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานให้จัดหลักสูตรโครงการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ เน้นการศึกษา (English Program) ระดับช่วงชั้นที่ 3

เว็บไซต์โรงเรียน http://110.170.192.9/index/




9. โรงเรียนกัลยาณวัตร จ.ขอนแก่น

อักษรย่อ ก.ว., K.W.

ตราประจำโรงเรียน รูปนางฟ้าสวมศิราภรณ์เหาะเหนือเมฆ พระหัตถ์ขวาทรงคบเพลิงชูเหนือพระเศียร พระหัตถ์ซ้ายทรงตำราเรียน ท่อนบนทรงเปลือยอก ท่อนล่างทรงผ้านุ่งมีจีบ นางฟ้า หมายถึง เจ้าแม่สำอางค์ผู้มอบที่ดินให้สร้างโรงเรียน และหมายถึงผู้มีจริยวัตรอันเรียบร้อยงดงาม คบเพลิง หมายถึง แสงสว่างแห่งปัญญา ตำราเรียน หมายถึง ความรู้

ปรัชญา คุณธมฺโม จ วิชฺชา จ วฑฺฒนวหา โหนฺติ (คุณธรรมและความรู้ นำไปสู่ความเจริญ)

คำขวัญ เร่งรัดวิชาการ ทำงานแข่งเวลา รักษาระเบียบวินัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

สีประจำโรงเรียน สีชมพู-สีกรมท่า หมายถึง ความสุภาพอ่อนน้อม และความมีคุณธรรม

พระพุทธรูปประจำโรงเรียน พระพุทธกัลยาณมุนี

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำโรงเรียน ศาลเจ้าแม่สำอางค์ เจ้าแม่สำอางค์เป็นผู้บริจาคที่ดินให้ทางราชการสร้างโรงเรียนกัลยาณวัตร ทางโรงเรียนนิยมเรียกศิษย์ของโรงเรียนว่า ลูกนางฟ้า หมายถึง ลูกของเจ้าแม่สำอางค์ พร้อมทั้งแต่งเพลงมาร์ชเจ้าแม่สำอางค์ไว้เป็นเพลงมาร์ชประจำโรงเรียน อีกทั้งสร้างหอประชุมของโรงเรียนโดยใช้นามของเจ้าแม่สำอางค์มาเป็นอนุสรณ์ชื่อ หอประชุมสิริสำอางค์

ต้นไม้ประจำโรงเรียน ต้นราชพฤกษ์ (ต้นคูณ) หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง

โรงเรียนกัลยาณวัตร (Kanlayanawat School) อดีตเป็นโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดขอนแก่น และเป็นโรงเรียนแห่งที่ 2 ของจังหวัดขอนแก่น เดิมชื่อโรงเรียนสตรีขอนแก่นกัลยาณวัตร สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งอยู่ ณ ถนนหลังเมือง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น มีเนื้อที่ทั้งหมด 19 ไร่ 1 งาน 99.6 ตารางวา ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2474 หลังโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน 34 ปี แรกเปิดสอนเฉพาะแผนกศิลป์และงานช่างฝีมือชั้นสูงแก่สตรีผู้ดีอีสานโบราณ ตลอดจนบุตรธิดาของเจ้านายข้าราชการเมืองขอนแก่น ในความดูแลของคุณหญิงแช่ม คชเสนีย์ โรงเรียนแห่งนี้สร้างขึ้นตามนโยบายการจัดตั้งโรงเรียนชาย-หญิงประจำจังหวัดของกระทรวงธรรมการ คู่กันกับโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน ซึ่งเป็นโรงเรียนชายประจำจังหวัดและเป็นโรงเรียนแห่งแรกของจังหวัดด้วย

โรงเรียนกัลยาณวัตร ก่อตั้งขึ้นจากความร่วมมือของพระยานครศรีบริรักษ์ (อู๋ นครศรี) อดีตเจ้าเมืองขอนแก่น พระพิไสยสิทธิกรรม (จีน ปิยะรัตน์) อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พระพิทักษ์สารนิคม (หนูหล้า สุนทรพิทักษ์) อดีตอุปฮาดและจางวางกำกับราชการเมืองขอนแก่น และหลวงราษฎร์ธุรกิจ (โสฬส อินทรกำแหง) นายอำเภอพระลับ และปัจจุบัน โรงเรียนกัลยาณวัตรเป็นโรงเรียนสหศึกษา เปิดสอนตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับคัดเลือกเข้าโครงการโรงเรียนมาตรฐานสากล จัดชั้นเรียนจำนวนน 81 ห้องเรียน

เว็บไซต์โรงเรียน http://www.kw.ac.th/



10. โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม จ.บุรีรัมย์

อักษรย่อ บ.พ.

ตราประจำโรงเรียน เป็นรูปธรรมจักร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของศาสนาพุทธ ล้อมด้วยวงแหวนสีชมพู เขียนว่า “นตถิ ปญญาสมา อาภา แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี” ด้านล่างเป็นชื่อโรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม

คำขวัญ ซื่อสัตย์ พัฒนา สามัคคี มีวินัย

สีประจำโรงเรียน น้ำเงิน-ชมพู

อัตลักษณ์ประจำโรงเรียน ลูก บ.พ. เพียรศึกษา สง่างาม (พศ ๒๕๕๖)

ต้นไม้ประจำโรงเรียน คือ ต้นสน ในงานรำลึกศิษย์เก่า มักใช้ชื่องานว่า “สนต้นที่” แล้วตามด้วยลำดับปีที่ก่อตั้งโรงเรียน

โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม (Buriram Pittayakhom School) จัดตั้งเมื่อ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2447 เคยเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา แต่ได้เปลี่ยนมาเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาในเวลาต่อมา เมื่อ พ.ศ. 2481 แยกออกเป็นโรงเรียนหญิงล้วน โดยตั้งชื่อว่า “โรงเรียนสตรีศรีบุรีรัมย์” พ.ศ. 2491 ได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น “โรงเรียนบุรีรัมย์วิทยาลัย” และในปี พ.ศ. 2515 รวม “โรงเรียนสตรีศรีบุรีรัมย์” เข้ากับ “โรงเรียนบุรีรัมย์วิทยาลัย” และเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม



ขอบคุณข้อมูลจาก : campus.campus-star.com