รู้มั้ย เราผลิตเซรุ่มแก้พิษงูกันอย่างไร?

รู้มั้ย เราผลิตเซรุ่มแก้พิษงูกันอย่างไร?

พิษงูมีสารประกอบหลายชนิดขึ้นอยู่กับชนิดของงู พิษงูแต่ละชนิดจึงออกฤทธิ์แตกต่างกัน บางชนิดออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ทำให้เหยื่อเป็นอัมพาต หรือชักหมดสติ บ้างก็เป็นพิษต่อระบบเลือด เข้าไปทำลายเม็ดเลือดแดง เป็นต้น หากไม่ได้รับเซรุ่มทันท่วงทีทคนที่ถูกงูพิษกัดก็อาจตายได้

แหล่งที่มาของเซรุ่ม คือแอนติบอดี้ที่ร่างกายสัตว์ผลิตออกมาต่อต้านพิษงู การผลิตเซรุ่มจึงนิยมฉีดพิษงูปริมาณน้อยๆ เข้าไปในร่างกายสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น ม้า หลังจากการฉีดพิษสัตว์จะได้พักเป็นเวลาหลายสัปดาห์ เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันสร้างแอนติบอดี้ออกมาจับกับพิษงูและกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง พร้อมภูมิต้านทานพิษงูที่สูงขึ้น จากนั้นมันก็จะถูกฉีดพิษอีกครั้งในปริมาณเพิ่มขึ้นทีละน้อย ทำวนเช่นนี้ไปจนกระทั่งร่างกายสัตว์มีภูมิต้านทานพิษงูสูงจนสร้างแอนติบอดี้ได้มากพอ

เมื่อสัตว์สร้างแอนติบอดี้ได้มากตามที่ต้องการแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะดูดเอาเลือดม้ามา สกัดแอนติบอดี้และผลิตเซรุ่ม แอนติบอดี้ในเซรุ่มออกฤทธิ์เช่นเดียวกับแอนติบอดี้ในระบบภูมิคุ้มกัน โดยมันจะไปจับกับพิษงูในผู้ถูกงูกัด ทำให้พิษงูหมดฤทธิ์ ผู้ป่วยจึงปลอดภัย

Did You Know? เซรุ่มแก้พิษงูจากม้า

ม้าเป็นแหล่งผลิตสำคัญของเซรุ่มแก้พิษงู ร่างกายของสัตว์ เช่น ม้า ที่ได้รับพิษงู จะสร้างแอนติบอดี้ขึ้นมาต่อต้านพิษ

โดยจ้าวแห่งอสรพิษ ทั่วโลกมีงูพิษกว่า 600 ชนิด ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิต จากการถูกงูพิษกัดจำนวนราว 30,000 ราย

กระบวนการในการผลิตเซรั่ม

1.รีดพิษงูจากฟาร์มงู - พิษงูถูกรีดจากงูที่ถูกเลี้ยงในฟาร์มงู เจ้าหน้าที่จะจับงูให้อ้าปากและฝังเขี้ยวเจาะผ่านชั้นฟิล์มให้พิษไหลลงไปในขวดเก็บพิษ พิษงูจะถูกเก็บแช่แข็งก่อนจะนำส่งไปผลิตแอนติบอดี้ต่อไป

2.ม้าผลิตแอนติบอดี้ต้านพิษ - ม้าได้รับพิษงูปริมาณทีละน้อยๆ ต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ระบบภูมิคุ้มกันของม้าจะ “รับรู้” ว่า พิษงูเป็นสิ่งแปลกปลอมอันตรายและสร้างแอนติบอดี้ขึ้นมาต่อต้านพิษนั้น

3.เซรุ่มสกัดจากเลือดม้า - เลือดม้าที่มีแอนติบอดี้จะถูกเจาะดูดออกมาเพื่อนำมาปั่นแยกชั้นด้วยเครื่องปั่นเหวี่ยงแยกตะกอน แรงหนีศูนย์กลางจากการหมุนปั่นอย่างรวดเร็วจะเหวี่ยงให้เม็ดเลือดตกตะกอนอยู่ที่ก้นหลอดและแอนติบอดี้ลอยแยกชั้นอยู่ด้านบน เจ้าหน้าที่จะสกัดแอนติบอดี้มาทำเป็นเซรุ่มแก้พิษงู

ที่มา scienceillustratedthailand